ชาวบ้าน อ.บางบาล ขอพระราชทานความช่วยเหลือจาก 'ในหลวง' หลังถูกน้ำแช่ขัง มานานกว่า 2 เดือน

ชาวบ้าน อ.บางบาล ขอพระราชทานความช่วยเหลือจาก 'ในหลวง' หลัง ถูกน้ำแช่ขัง มานานกว่า 2 เดือน ระบุ สิ่งที่ต้องการมากกว่าของแจกและเงินเยียวยา คือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ขณะที่โรงเรียนบางบาลวิกฤต ระดับน้ำสูงกว่าโรงเรียนเกือบ 3 เมตร ครูนักเรียนผลัดเวรเฝ้าระวังคันกั้นน้

12 ต.ค.2565 - เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ต.ค. ชาวบ้าน ต.บางชะนี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา รวมตัวขอพระราชทานความช่วยเหลือจากในหลวง เนื่องจากต้องทนทุกข์ทรมานจากสภาพน้ำท่วมขัง จนต้องมาอาศัยบนท้องถนน นานกว่า 2 เดือน

นางเรณู กสิกุล แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ปริมาณน้ำท่วมปีนี้สูงกว่าปี 54 แล้ว ทั้งที่ปริมาณน้ำสะสมยังน้อยกว่าปี 54 มาก และยังต้องเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำจากภาคเหนือลงมาอีกในอีกไม่ช้านี้ ที่ผ่านมา การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพส่งผลให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนจากปริมาณน้ำในบางพื้นที่เกือบ 4 เมตร ทั้งที่บ้านส่วนใหญ่ชาวบ้านลงทุนดีดเพื่อให้พ้นน้ำ ก็ยังไม่พ้น พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ทำมาหากินไม่ได้มา 2 เดือนแล้ว หลายคนล้มป่วย และเครียดพวกเราไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะผู้นำเองแก้ปัญหาด้วยการปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกันเอง เรื่องการปิดเปิดน้ำ เราจึงจำเป็นต้องมาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากในหลวง ขอพระองค์ทรงพระเมตตาต่อประชาชนชาวบางบาลด้วย เราอยากถวายฎีกา แต่พวกเราก็ความรู้น้อยทำกันไม่เป็น ก็ได้แต่วอนขอผ่านสื่อมวลชนแบบนี้

“พวกเราขอบคุณสำหรับกำลังใจของทุกท่าน และของแจกที่ท่านส่งมาช่วยเหลือ แต่สิ่งที่เราต้องการคือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เราต้องเผชิญกับน้ำแบบไม่เป็นธรรมมาเป็นสิบปี ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่เคยปรับปรุงหรือแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเลย บางบาล ต้องเป็นเมืองรับน้ำ ทั้งที่เราก็ไม่เคยเห็นคำสั่งแต่งตั้งใด ๆ จากทางราชการ เงินชดเชยเพียงน้อยนิด ไม่สามารถนำมาทำอะไรได้ ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ดิ้นหาทางและซ่อมแซมกันเอง” นางเรณู กล่าว

ด้านนายชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หากมีการระบายน้ำก่อนตั้งแต่ต้นชาวบ้านก็จะไม่เจอน้ำท่วมสุงขนาดนี้ ซึ่ง11 ปี หลังจากมีน้ำท่วมใหญ่ ก็น่าจะมีการเรียนรู้ และไม่อยากให้คิดว่า อ.บางบาล เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพราะทุกปีระดับน้ำ ก็สูงมาก และใน 12 เดือน ชาวบ้านต้องอยู่กับน้ำนานถึง 4 เดือน จึงควรมีการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน

“ปัญหาที่จะได้รับการแก้ไข ที่ว่าเป็นทุ่งรับน้ำ หรือทุ่งนาต่าง ๆ เราให้ทำนาสองรุ่น แลรุ่นที่สาม ถ้าใครจะทำนาก็ขอว่า 15 กันยายน ต้องเก็บเกี่ยวให้หมด เพราะมีความชอบธรรมที่ชลประทานจะระบายน้ำเข้าไป แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น การจะเปิดประตูน้ำแต่ละครั้ง ชาวบ้านต้องไปโห่ร้อง ต้องไปมีเรื่อง ต้องอาละวาด ต้องใช้คำหยาบคายกัน และสุดท้ายก็เปิดได้ แต่ทำไมชลประทานชลประทานจึงไม่คิดจะแบ่งเบาความทุกข์นี้ก่อนจะถึงจุดนั้นทั้ง ๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่าน้ำมีที่ไป” นายชูเกียรติ กล่าว

ขณะที่โรงเรียนบางบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในเขต ต.บางบาล อ.บางบาล ครู นักเรียน และชาวบ้านช่วยกันนำกระสอบทรายมาเสริมคันดินกั้นน้ำให้สูงขึ้น เนื่องจาก ปริมาณในปีนี้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่าพื้นโรงเรียนเกือบ 3 เมตร มีน้ำซึมเข้าโรงเรียนเป็นบางช่วง ต้องเร่งสูบออก และบริเวณด้านหลังโรงเรียน กระแสน้ำเชี่ยวหนัก การสัญจรไปมาเป็นไปอย่างยากลำบาก สิ่งที่น่ากังวลคือน้ำกัดเซาะคันดินทั้งด้านหน้าและหลังโรงเรียน ครู นักเรียน จึงต้องผลัดเปลี่ยนเวรกันเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง