7 ต.ค.2565 - โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้เปลี่ยนธงแสดงสถานการณ์น้ำที่ติดตั้งไว้บนสันเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จากธงสีเหลือง สถานการณ์น้ำเฝ้าระวัง เป็นธงสีแดง สถานการณ์น้ำวิกฤติ เพื่อเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังแม่น้ำเจ้าพระยา และการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เฝ้าระวังปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเวลา 17.00 น. แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 3,088 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2,912 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.สรรพยา ยังขยายวงกว้างมากขึ้น หลายพื้นที่แนวกระสอบทรายพัง คันดินกั้นน้ำขาด เพราะไม่สามารถต้านทานปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นทุกนาทีได้ เช่นพื้นที่ฝั่งตะวันตก คันดินกั้นน้ำบริเวณบ้านท่าทราย ม.1 ต.บางหลวง ถูกน้ำเซาะขาดช่วงกลางดึก น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว แม้ชาวบ้านจะเก็บข้าวของขึ้นที่สูงกันไว้ก่อนแล้ว แต่ปริมาณน้ำที่ทะลักเข้ามาไหลแรงและท่วมสูงขึ้นทุกนาที ทำให้ชาวบ้านต้องยกของหนีน้ำกันอย่างโกลาหล นางสนิท มีแสง อายุ 76 ปี ชาวบ้าน ม.1 ต.บางหลวง ถูกตะขาบกัดที่นิ้วมือ ขณะกำลังขนของหนีน้ำ แต่กลัวจะเก็บของไม่ทัน เพราะอยู่กับหลาน 2 คน จึงยังไม่ยอมไปหาหมอ ทนปวดนิ้วมือ เก็บของหนีน้ำนานอยู่ 3 ชั่วโมง เริ่มมีอาการแน่นหน้าอก จึงต้องแจ้งอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูชัยนาทให้ช่วยพาไปส่งโรงพยาบาล
ขณะที่ถนนในหมู่บ้าน ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมทุกเส้นทาง น้ำที่ไหลท่วมถนน กระแสน้ำไหลแรง ทำให้ชาวบ้านเดินหนีน้ำออกไปลำบาก นายสมใจ เกิดหลิน ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านตรงจุดที่กระแสน้ำแรงไหลผ่าน จึงได้นำเชือกไปผูกไว้ประตูหน้าบ้าน เพื่อไว้ให้ชาวบ้านและเด็กๆ ใช้เป็นราวจับ ป้องกันไม่ให้ถูกน้ำพัดไป นายสมใจ บอกว่า คันดินที่ทำกั้นแม่น้ำไว้และปิดทับด้วยกระสอบทราย ต้านทานแรงน้ำไม่ไหว ถูกน้ำเซาะกลางดึก ชาวบ้านพยายามช่วยกันอุดน้ำแล้ว แต่เอาไม่อยู่ น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับพื้นที่ฝั่งตะวันออก แนวกระสอบทรายที่ ม.1,ม.2 ต.ตลุก ม.6 ม.9 ต.หาดอาษา ก็ถูกน้ำเซาะพัง น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็วเช่นกัน ชาวบ้านต้องอพยพหนีน้ำขึ้นไปอาศัยริมถนนคลองมหาราชกันเป็นจำนวนมาก
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 49/2565 เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำหลากจากทางตอนเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น โดยวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เวลา 18.00 น. มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา
ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร(รทก) ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 เมตร เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำ ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 เมตร(รทก) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900-3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 เมตร(รทก) ในช่วงวันที่ 8 -13 ตุลาคม 2565 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1.ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร 2. บริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้
พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ตั้งแต่ 18 พ.ย. อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 15 -24 พ.ย. 67
กรมอุตฯ ประกาศเตือนพายุ 'โทราจี' ฉบับสุดท้าย
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “โทราจี” ฉบับที่ 10 โดยมีใจความว่า
อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 31 จังหวัด 'เหนือ-อีสาน' อุณหภูมิสูงขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบนมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง