เครือข่ายเหมืองแร่ทั่วประเทศ ร่วมงาน 12 ปี การต่อสู้กลุ่มรักษ์บ้านแหง ถอดรหัส “ยึดการเมืองท้องถิ่น – ชาติ” ผนึกกำลังต้านทุนเหมืองในพื้นที่ พร้อมร่วมส่งกำลังใจปลุก”เอกชัย” ฟื้นกลับมา
25 ก.ย.2565 – ที่โรงเรียนบ้านแหงเหนือ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง กลุ่มประชาชนในนาม กลุ่มรักษ์บ้านแหง จัดงาน 12 ปี แห่งการสู้เหมือง กลุ่มรักษ์บ้านแหง พร้อมกับการจัดเสวนาในหัวข้อ “ถอดรหัส การต่อสู้กลุ่มรักษ์บ้านแหง 12 ปี แห่งชัยชนะ” โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย ,กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดจังหวัดหนองบัวลำภู,
น.ส.กมลเนตร เชียงโฉม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวในเวทีเสวนาว่า ประเด็นของบ้านเราที่ต่อสู้กันมาคือเรื่องเหมืองถ่านหินลิกไนต์ โดยมียุทธวิธีคือใช้วิธีตั้งด่านสกัดคนเข้าออกพื้นที่ และส่งตัวแทนของกลุ่มเข้าเป็นเป็นผู้นำชุมชนทั้งผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นของกลุ่มรักษ์บ้านแหงทั้งหมด ซึ่งในส่วนของตนเองกว่าจะเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็มีความยากลำบาก โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 และถูกดำเนินคดีมาแล้ว 2 คดี เงินเดือนไม่พอสู้คดีจนต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนยุติธรรมมาต่อสู้คดี ทั้งนี้ฝ่ายปกครองมองว่าเราทำผิดระเบียบไม่ใช่หน้าที่ ที่เราต้องออกไปต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน แต่เราก็ไม่ฟังยังไปร่วมกับพี่น้องอยู่หากไม่ติดธุระทางราชการ ทั้งนี้ประเด็นเหมืองแร่บ้านแหงเราต่อสู้กันมา 12 ปี เรายังยืนยันจะต่อสู้ต่อไป ถ้ามีบุคคลไม่หวังดีเข้ามาในพื้นที่ชาวบ้านก็พร้อมสกัดกั้น ที่สำคัญในเรื่องของการยึดครองตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภา อบต.ในส่วนที่หมดวาระลงในปี 2566
“เราก็จะเดินหน้าต่อ รวมไปถึงตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคสามัญชน ที่เราจะยึดมาเป็นของกลุ่มรักษ์บ้านแหงต่อไปด้วย อีกทั้งในอนาคตเราจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งข้าวและกระเทียมซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” น.ส.กมลเนตร ระบุ
ขณะที่ น.ส.สุดตา คำน้อย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร กล่าวว่า เราต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2558 โดยต่อสู้กับทุนจีนที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่โดยรัฐบาลไทย เขาเข้ามาถูกกฎหมายก็จริง แต่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ตั้งแต่กระบวนการแรก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแร่โปแตซคืออะไร และคุณจะมาทำอะไรในบ้านของเรา เรายื่นหนังสือตั้งแต่ระดับ อบต. อำเภอ จังหวัด เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลกับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้าน 9 คน ที่ต่อสู้ถูกดำเนินคดีบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 3.6 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นฎีกา
น.ส.สุดตา กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำในขณะนี้คือการติดตามและคัดค้านการออกใบอาชญาบัตรใหม่ และไม่ใช่แค่อาชญาบัตรในพื้นที่ของเราท่านั้น แต่เราติดตามร่วมกับทุกเครือข่าย เราต่อสู้เพื่อบ้านเกิดและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องปกป้อง แต่กลายเป็นว่าเราไม่เคยใช้สิทธิชุมชนได้เต็มที่และรัฐกับนายทุนเป็นฝ่ายที่ทำร้ายเรา ถ้าปีนี้เขาได้ใบอาชญาบัตรพิเศษมาคิดว่าการต่อสู้จะดุเดือดมากกว่าคราวที่แล้ว บทเรียนในการปิดถนนต้องถูกนำกลับมาใช้อีกหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
“ทำไมเราต้องยอมแลกและต่อสู้เพราะว่าถ้าเราปล่อยไป หากมีการให้อาชญาบัตรในการสำรวจ คิดว่าใบประทานบัตรต้องมาถึงเราแน่นอน ของเราได้รับอาชญาบัตรพร้อมกันกับด่านขุนทด จ.นครราชสีมา วันนี้เรายังมีความปลาบปลื้มที่วานรกนิวาสยังไม่มีการทำเหมือง แต่ด่านขุนทดเกิดขึ้นและมีผลกระทบแล้ว”สุดตา กล่าว
นายจวน สุจา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำแม่ลาหลวง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การทำเหมืองใน จ.แม่ฮ่องสอน เริ่มตั้งแต่ตนเองเป็นเด็ก 30 กว่าปีมาแล้ว โดยไม่เคยมีการทำประชาคม ภาครัฐประกาศให้สัมปทานเหมือนป่าไม้ ที่ผ่านมาเหมืองปิดไปแล้ว 20 กว่าปีเหมืองแร่ฟลูออไรต์ บริษัทเดิมสืบทอดกิจการจากพ่อ ซึ่งเป็นของชาวจีน เขารู้ว่าแร่ยังมีอยู่จำนวนมาก จึงเข้ามาอีกรอบหนึ่ง มาแบบพวกเราไม่รู้เรื่อง
“เราโดนปกปิดข้อมูลข่าวสาร เหมืองตัวนี้จะเริ่มยื่นขอประทานบัตร ซึ่งผู้ว่าฯ นายอำเภอ และป่าไม้บอกเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และเป็นลุ่มน้ำชั้นบี ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นลุ่มน้ำชั้นบี ผมได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งลงมาดูพื้นที่ด้วยตัวเองและ กมธ.พบว่าไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมแต่อย่างใด ซึ่งการทำเมืองจะกระทบกับการทำน้ำประปาและการเพาะปลูกของหมู่บ้าน หากมีสารตะกั่วปนเปื้อนลำน้ำแม่ลาน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชน” นายจวน กล่าว
นายจวน ระบุด้วยว่า นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าว ที่ผ่านมาเราได้ยื่นหนังสือในทุกระดับทั้ง อบต. อำเภอ ผู้ว่าฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำเนียบ และรัฐสภา ถ้ายังจะมีการทำเหมืองต่อเราจะต่อสู้ด้วยปฏิบัติการขั้นสูงสุดคือปิดพื้นที่ไม่ให้เข้า และจะมอบหมายให้ทนายฟ้องร้องในเรื่องการปกปิดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการทำประชาคมที่ไม่โปร่งใส รวมทั้งจะมีการยื่นถวายฎีกาต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับอุโมงค์เหมืองเดิมที่มี 10 อุโมงค์ เราเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป
ขณะที่ น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า เดิมชาวบ้านนักต่อสู้ในประเด็นสิทธิชุมชนเริ่มต้นจากการต้องสู้คดีเป็นผู้ที่ถูกรัฐและเอกชนฟ้อง ถูกแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งสิ่งที่เราใช้ในการต่อสู้คดีคือข้อเท็จจริงทำให้ชนะคดีเกือบทั้งหมดด้วยการที่ศาลยกฟ้อง ดังนั้นการสู้คดีข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญและปกป้องประโยชน์สาธารณะได้ อีกส่วนคือการที่เราใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ บริษัทลากไปสู้คดีแล้ว เราก็ใช้กฎหมายในการปกป้องสิทธิของเราบ้าง ซึ่งหลายคดีเราต่อสู้ เช่น กรณีบ้านแหงที่ร้องต่อศาลปกครอง จนหยุดใบประทานบัตรได้ แม้ยังยังมีการอุทธรณ์คดีอยู่ แต่ก็เป็นตัวอย่างในพื้นที่อื่นว่าทำให้โครงการชะลอได้จริง
” ซึ่งหน่วยงานรัฐก็ไปแก้เกมด้วยการแก้กฎหมายแร่ในเรื่องขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้กับรัฐในเรื่องการแก้กฎหมายแร่ที่ภาคประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตลอดจนหยุดแผนแม่บทแร่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลงให้ได้ ” น.ส.ส.รัตนมณี ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้ร่วมกันส่งกำลังใจให้กับเอกชัย อิสระทะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังนอนรักษาตัวด้วยอาการป่วยที่โรงพยาบาลด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ใหม่ ดาวิกา' ไม่ทน! จ่อฟ้องเกรียนคีย์บอร์ด
จากกระแสดราม่า #แบนแม่หยัว เพราะในละครมีฉากที่น้องแมวดำถูกวางยา ซึ่งคนรักสัตว์ต่างรับไม่ได้ จนลุกลามไปยังนักแสดงนำอย่าง ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ ที่มีชาวเน็ตบางส่วนได้เข้ามาต่อว่าเธอด้วยด้วยคำรุนแรง ล่าสุดเจ้าตัวได้ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านทาง แอพพิเคชั่นX เตรียมฟ้องคนด่าแรง ลั่นจะนำเงินที่ได้มาช่วยเหลือสัตว์ พร้อมฝากแฟนคลับช่วยกันแคปหลักฐาน
‘กัญจนา' ไม่ทน จ่อฟ้องเกรียนคีย์บอร์ด หมิ่นประมาท เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
กัญจนา ลั่นฟ้องเกรียนคีย์บอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างของพฤติกรรมที่ไม่ดีในสังคม