2 ก.ย.2565 - สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงทรงตัวมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 1,000 คน เกือบทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรงหรือแทบไม่มีอาการ โดยในระยะนี้พบว่า ผู้ป่วยอาการสาหัสเดิมมีเสียชีวิตทุกวัน
นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นสถานการณ์หลังการระบาดใหญ่ หรือ Post-Pandemic ซึ่งยังคงพบการระบาดกระจายในชุมชนอยู่บ้าง ตามความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่ แต่ไม่ได้พบคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงพบประมาณ 20-30 รายต่อวัน ทำให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักทั้งจังหวัดว่างอยู่ประมาณร้อยละ 80 ส่วนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตเฉลี่ยก็มีแนวโน้มคงที่ อยู่ที่ร้อยละ 0.09 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดแม่ระยะนี้จะมีทุกวัน เชียงใหม่ยังเน้นกระตุ้นการรับวัคซีนตามมาตรการต่อเนื่อง
จากผลการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 พบว่า สามารถพบได้หลากหลายอาการ ในระบบต่างๆของร่างกาย บางคนอาจมีอาการผิดปกติเพียงอาการเดียว หรือหลายอาการร่วมกันได้ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ อาจพบได้ตั้งแต่เป็นสัปดาห์ได้ถึงหลายเดือน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ภาวะลอง โควิด” (Long COVID) หรือ อาการหลงเหลือของเชื้อโควิด 19 ระยะยาว ซึ่งสามารถพบภาวะนี้ได้ทั่วโลกตอนนี้ในพื้นที่เชียงใหม่ก็เริ่มมีอัตราสูงขึ้น
โดยผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อ ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องหรือเป็นๆหายๆ นานกว่า 2 เดือน และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถอธิบายได้จากการวินิจฉัยอื่นๆ โอกาสเกิดภาวะ Long COVID อาจสูงกว่าร้อยละ 30 ในผู้ป่วยที่ต้องนอน รพ. โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง อย่างไรก็ตามผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ก็มีโอกาสเกิดภาวะ Long COVID เช่นเดียวกัน
โดยอาการของภาวะลองโควิดที่พบได้บ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย นอนไม่หลับ ไอ ปวดศีรษะ ผมร่วง เวียนศีรษะ วิตกกังวล ความจำสั้น เจ็บหน้าอก ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ความรุนแรงของอาการจะอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการอักเสบที่ยังดำเนินอยู่ ความเสียหายของอวัยวะ ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิมก่อนป่วยด้วย COVID-19 หรือผลจากการนอนโรงพยาบาล รวมถึงผลจากการรักษาในช่วงวิกฤต ความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยในกลุ่มลองโควิด ได้แก่ อาการปวดศีรษะ อาการมึนศีรษะ อ่อนเพลีย ภาวะบกพร่องด้านสมาธิ ความจำที่ใช้ในการทำงาน (attention and working memory) และการตัดสินใจวางแผน (executive function) ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อรุนแรง การมีรอยโรคที่สมองอยู่เดิม หรือระหว่างการเป็นโรคโควิด-19 หรือมีภาวะโรคร่วมทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า
ปัจจุบันการรักษาลองโควิด เป็นการรักษาตามอาการที่พบมีความผิดปกติเป็นหลัก เช่น บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อด้วยการบริหารร่างกาย การออกกำลังกายชนิดแอโรบิคแบบเบา การฝึกหายใจในลักษณะช้าและลึกเพื่อสริมความความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจ และติดตามประเมินอาการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีแนวทางในการประเมิน และให้การดูแลในด้านต่างๆ รวมถึงการตรวจพิเศษในกรณีที่มีความรุนแรง โดยการดูแลเบื้องต้นจะเป็นการมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด
โดยแนะนำผู้ป่วยลองโควิด-19 ฟื้นฟูร่างกายเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย หากมีอาการเบื่ออาหาร ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย และควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด ย่อยยาก รวมทั้งควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข แนวทางการจัดตั้งคลินิกลองโควิด รวมทั้งได้จัดทำแบบสอบถามการติดเชื้อโควิด-19 และอาการหลังการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชน พร้อมสื่อความรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิด ที่เผยแพร่ในหลายช่องทางสื่อสังคมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินตนเองและมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลตนเองได้ อาจมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053 211048-50
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ยันไม่ยุบ! รัฐบาลพ่อเลี้ยงอยู่ครบเทอม ปีหน้าม่วนแน่ จบทุกปัญหา เชียงใหม่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ที่ตลาดภูสุวรรณ ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ ช่วยหาเสียงนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' คึกมั่นใจชนะล้านเปอร์เซ็นต์
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ 'เจ๊แดง-สมชาย-พิชัย' ต้อนรับ แวะกินก๋วยเตี๋ยวร้านมิชเชอร์ลิน 7 ปีซ้อน ก่อนช่วงเย็นขึ้นปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' ลั่นมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ