22 ส.ค.2565 - น.ส.ดรุณี สิงห์พงไพร เลขานุการเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านใน 3 ตำบลคือสันติคีรี แม่ลาหลวงและแม่โถนับพันคนได้ร่วมกันจัดกิจกรรม“หลือเกอะเจอ จิเปอะเตรอ เกอะจ่า”หรือ “บวชภูเขา บวชป่า สรรเสริญธรรมชาติ” ซึ่งเป็นการแสดงออกในการประกาศเจตนารมณ์ไม่ให้มีการขุดเจาะภูเขาเพื่อทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์
ทั้งนี้ได้มีการประกอบพิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิม พิธีกรรมศาสนาพุทธ และคริสต์ศาสนา ตามวิถีวัฒนธรรมความเชื่อที่หลากหลายของพี่น้องชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองชุมชนลุ่มน้ำลา ได้แก่ชนเผ่าปกาเกอะญอ ละเวื้อ(ลั๊วะ) ไทใหญ่ และคนเมือง เพื่อศรัทธาร่วมและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเอาชนะความกลัวปัญหาและอุปสรรคที่กำลังเผชิญ
น.ส.ดรุณีกล่าวว่า กิจกรรมในงานสิ้นสุดด้วยการประกาศเจตนารมร์ โดยระบุว่า ทุกคนร่วมกันบูชาจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ เพื่อสืบทอดคำสอนของบรรพบุรุษที่ให้เรารักป่า รักดิน รักน้ำ และดำรงวิถีชีวิตที่ผูกพัน เกื้อกูล และเคารพต่อธรรมชาติ ผืนป่าและสายน้ำ นับตั้งแต่ที่ได้รับรู้ว่าจะมีโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรด์เข้ามาในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะกอก ตำบลสันติคีรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาหลวง อันเป็นสายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราชาวลุ่มน้ำลามาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษ
“พวกเราได้ร่วมกันเรียกร้องคัดค้านโครงการต่อหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าหากมีการอนุมัติให้ทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์ได้ จะมีการขุดเจาะภูเขาและทำลายป่าไม้ อันเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยไม่อาจฟื้นคืนได้อีก แต่เสียงของเรากลับไม่ได้รับการตอบสนองและรับฟังอย่างแท้จริง พวกเขากลับยังคงเดินหน้าดำเนินการเพื่อจะอนุมัติให้มีการทำเหมืองแร่ให้ได้ เราชาวลุ่มน้ำลาจึงขอประกาศเจตนารมณ์ต่อจิตวิญญาณของภูเขา ป่าไม้และแม่น้ำ อันเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณแห่งบรรพบุรุษทั้งหลายของเราว่า เราจะร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรด์ อย่างเข้มแข็งจนกว่าจะยุติและออกไปจากพื้นที่ของเราตลอดไป”น.ส.ดรุณี กล่าวถึงคำประกาศของชาวบ้าน
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าการสัมปทานเหมืองแร่ที่สัมพันธ์กับพื้นที่ป่า ซึ่งมีข้อสังเกตว่าพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองอยู่ติดกับลำน้ำและเป็นแหล่งต้นน้ำ ซึ่งในกฎหมายแร่กำหนดว่าเส้นทางน้ำกับรัศมีการทำเหมืองต้องอยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่า 50 เมตร และไม่สามารถตั้งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งซับซึมของน้ำหรือแหล่งต้นน้ำได้ โดยเวทีรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมฯในวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากการทำรายงานเวทีรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมและเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ใช้ประกอบการทำ EIA จะนำมารวมกันไม่ได้ เนื่องจากอยู่คนละกระบวนการ และตามหลักการใช้พื้นที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ก่อน
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน กล่าวว่า เครื่องมือที่สามารถใช้ในการต่อสู้ของประชาชนและเป็นสิทธิที่ประชาชนควรต้องได้รับ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร สิทธิที่จะร้องเรียน สิทธิการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสิทธิที่จะฟ้องเมื่อไม่ได้รับความยุติธรรม และเสรีภาร ประกอบด้วย เสรีภาพในการแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีบัญญัติอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และ เสรีภาพในการชุมนุม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม่ฮ่องสอน-ตรัง-อยุธยา ติดเทรนด์เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศไทยจาก Airbnb แพลตฟอร์มการจองที่พักยอดนิยมใน
ปลูกพืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ จารึกหายนะ 'เหมืองแร่ทองคำ'
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง จ.เลย” จัดกิจกรรม “ปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมา” ครั้งที่ 2 ลุยเดินแผนฟื้นฟูภาคประชาชนคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกย่ำยี เผยแม้เหมืองจะปิดไปแล้วแต่ผลสุ่มตรวจเลือดชาวบ้าน ยังเจอโลหะหนักในเลือด หวังรัฐตรวจเลือดครบทุกคน ชนะคดีสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาตามคำสั่งศาล
'ปภ.' แจ้งเตือน แม่ฮ่องสอน - เชียงราย รับมือน้ำท่วมฉับพลัน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM แจ้งเตือน รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 08.00 น.
ชาวสาละวิน ร้อง กสม. หลังถูกอุทยานฯยึดที่ดิน-ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย 2.3 แสน
ชาวบ้านหมู่บ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 20 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่และทำกินในป่าบริเวณนี้มาก่อนอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ