กสม.แนะ กอ.รมน.ภาค 4 ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและเยียวยาผู้เสียหายที่ถูกทำร้าย

กสม.ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงถูกร้องเรียนทำร้ายร่างกายบุคคลในระหว่างควบคุมตัว แนะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเยียวยาผู้เสียหาย - กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

04 ส.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือน มิ.ย.2564 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ทำร้ายร่างกายบิดาของตนซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระหว่างที่บิดาถูกควบคุมตัวและดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี โดยภายหลังจากบิดาถูกควบคุมตัวไว้และผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม สังเกตเห็นว่า บิดามีสีหน้าวิตกกังวล และมีร่องรอยบาดเจ็บตามร่างกาย ซึ่งในขณะที่พูดคุยมีเจ้าหน้าที่ทหารยืนประกบข้างตัวบิดาตลอดเวลา จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้เสียหาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว รับฟังได้ว่า ในการเข้าสู่กรรมวิธีซักถาม ผู้เสียหายคือบิดาของผู้ร้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 2 ครั้ง ทั้งก่อนและหลังการดำเนินกรรมวิธีซักถาม ผลการตรวจทั้งสองครั้งในใบสำคัญความเห็นของแพทย์โดยสรุประบุว่า แผลช้ำก่อนเข้าเรือนจำ โดยหลังถูกควบคุมตัวอาการทั่วไปปกติดี และปฏิเสธการถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ได้มีการลงลายมือชื่อของผู้เสียหายเพื่อรับรองความถูกต้องของข้อมูลด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เสียหายให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ กสม. ว่า การตรวจร่างกายภายหลังการถูกควบคุมตัว แพทย์ไม่ได้สอบถามผู้เสียหายเกี่ยวกับการถูกทำร้ายร่างกาย ไม่มีการให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจดูร่างกายอย่างละเอียด และผู้เสียหายก็ไม่ได้แจ้งปฏิเสธการถูกทำร้ายร่างกายตามที่แพทย์ระบุ ข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่พยานหลักฐานของหน่วยงานผู้ร้องกับผู้เสียหายขัดแย้งกันในสาระสำคัญ อย่างไรก็ดี พบว่ามีผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จากการที่ผู้ร้องได้เข้าเยี่ยมผู้เสียหายระหว่างการถูกควบคุมตัวแล้วมีข้อสงสัยว่าอาจจะถูกทำร้ายร่างกาย จึงได้ร้องขอให้นำตัวผู้เสียหายส่งตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลดังกล่าวในวันที่ผู้เสียหายถูกควบคุมตัว ผลการตรวจสรุปได้ว่า ผู้เสียหายรู้สึกตัวดี ขยับแขนขาได้ตามปกติ มีแผลถลอกที่ไหล่ข้างขวา ไม่พบบาดแผลตำแหน่งอื่น ๆ จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงรับฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกก่อนที่จะถูกควบคุมตัวที่กรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ ในระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายหรือไม่ ประเด็นนี้ ผู้เสียหายให้ข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ใช้เท้าถีบและใช้เข่ากระทุ้งที่ร่างกายหลายครั้ง รวมทั้งใช้มือดึงบริเวณลำคอและมือของผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บ เมื่อพิจารณาประกอบบันทึกการเข้าเยี่ยมของผู้ร้องกับญาติทั้ง 5 วันในระหว่างที่ผู้เสียหายถูกควบคุมตัว พบว่า ผู้ร้องกับญาติเริ่มพบเห็นร่องรอยความผิดปกติของผู้เสียหายซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของผู้เสียหายในช่วงเวลาเดียวกันตามลำดับในแต่ละวัน แม้ข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้เสียหายและญาติจะขัดแย้งกับผลการตรวจร่างกายครั้งหลังของแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารที่ระบุว่า อาการทั่วไปของผู้เสียหายปกติดี และปฏิเสธการถูกทำร้ายร่างกาย แต่ผู้เสียหายให้ข้อเท็จจริงว่าแพทย์ไม่ได้ให้ผู้เสียหายถอดเสื้อออกเพื่อตรวจร่างกาย รวมถึงในการตรวจสอบ แม้จะไม่มีพยานหลักฐานอื่น โดยเฉพาะพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้น แต่การให้ข้อเท็จจริงของผู้ร้องกับผู้เสียหายไม่ได้เกิดขึ้นในขณะเดียวกันที่จะทำให้เกิดข้อพิรุธว่าซักซ้อมกันมาก่อน ในชั้นนี้จึงเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ทหารผู้ถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้เสียหายจนเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ผู้ร้องและญาติเข้าเยี่ยมผู้เสียหาย มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 5-7 คนอยู่ร่วมรับฟังการเยี่ยมด้วย ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าที่จะพูดคุยกับญาติที่มาเยี่ยมได้อย่างเต็มที่ แม้ในการตรวจสอบจะไม่ปรากฏว่ามีการขัดขวางการพูดคุยระหว่างผู้เสียหายกับญาติ แต่หากมิใช่เหตุผลที่จำเป็นอย่างยิ่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว กรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ร่วมในการเยี่ยมในจำนวนที่เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังให้ข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างถูกควบคุมตัวได้ถูกเรียกสอบถามข้อมูลในช่วงเวลาประมาณ 03.00-04.00 น. แม้ตามระเบียบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 จะกำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เจ้าหน้าที่สอบถามผู้ต้องสงสัยในเวลากลางคืนได้ แต่การสอบถามในช่วงเวลากลางดึกเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกสอบถาม และสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

1. มาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายกรณีนี้ และต้องเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามระเบียบกองทัพภาคที่ 4 / กอ.รมน. ภาค 4 ว่าด้วยวิธีการปฏิบัติในการตรวจค้น และการกักตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ข้อ 5.3.4 ที่กำหนดข้อห้ามเจ้าหน้าที่กระทำการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกควบคุมตัว และให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อเยียวยาความเสียหายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหายและครอบครัว นอกจากนี้ ให้พิจารณาจัดให้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะควบคุมตัวและสอบสวนบุคคลซึ่งเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ อันสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองบุคคลตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้

2.มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร กำหนดแนวทางการจัดให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ร่วมในการเยี่ยมญาติ ซึ่งจะต้องมีจำนวนที่เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น และให้มีระยะห่างที่ไม่เป็นการล่วงรู้หรือเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกควบคุมตัวและญาติ นอกจากนี้ให้มีการทบทวนระเบียบว่าด้วยวิธีการปฏิบัติในการตรวจค้น และการกักตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 จากเดิมที่กำหนดห้วงเวลาการสอบถามข้อมูลจากผู้ถูกควบคุมตัว ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 นาฬิกา เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจรอได้ เป็นให้กระทำได้ในช่วงเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก และหลีกเลี่ยงการสอบถามบุคคลในช่วงเวลาหลังจากนั้น เว้นแต่เป็นการสอบสวนต่อเนื่อง หรือมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง โดยเทียบเคียงหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 ว่าด้วยเรื่องการค้น

นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารกำหนดมาตรฐานในการตรวจร่างกายของผู้ต้องสงสัย โดยให้มีการสอบถามประวัติการถูกทำร้ายร่างกายและตรวจบาดแผลตามร่างกายโดยละเอียดทุกครั้ง และให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันทั้งก่อนและหลังการควบคุมตัว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.แนะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินปชช. ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ

กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

กสม.ชงนายกฯทบทวนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในเขตอุทยานฯหวั่นกระทบสิทธิปชช.

กสม. เสนอแนะนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง

กสม.แนะตร.แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังถูกอายัดตัวกว่า 10 ปี

กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ

กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567

'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่ง​ชาติ​ (กสม.)​ นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ