กสม.ชี้ จนท.ความมั่นคงถูกร้องเรียนมากสุดในจังหวัดชายแดนใต้

กสม. พัฒนากลไกสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่ในระดับภูมิภาคที่ภาคใต้เป็นแห่งแรก เผยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในกระบวนการยุติธรรมถูกร้องเรียนมากที่สุด

20 ก.ค.2565 - ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนายสุชาติ เศรษฐมาลินี กสม.แถลงว่า ตามที่ กสม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 ให้จัดตั้งสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ เป็นส่วนราชการในส่วนภูมิภาคแห่งแรก ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล โดยมีประกาศให้เปิดทำการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ มาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2565 ณ เลขที่ 31 อาคารสันติภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และในวันที่ 20 ก.ค.2565 ได้มีการจัดสัมมนาเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เนื่องในโอกาสเปิดสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหา บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนำไปสู่การพัฒนากลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่

ที่ผ่านมาสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้ดำเนินงานด้านการคุ้มครอง ส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่สำคัญ เช่น การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน การรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมายของกลุ่มชาติพันธ์มานิจังหวัดสตูล การให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่บุคคลต่างด้าวเรื่องการขอสัญชาติไทย การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มสตรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในการเตรียมจัดทำหลักสูตรอบรมบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทำหน้าที่ตรวจประเมินสุขภาพของผู้ถูกควบคุมตัวประกอบการตรวจสอบเหตุซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ถึงปัจจุบัน (30 มิถุนายน 2565) กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 464 คำร้อง โดยเรื่องร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพ (2) สิทธิและสถานะบุคคล เช่น กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือจัดทำล่าช้าและ (3) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง กระทำการตรวจค้น ควบคุมตัว และปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2565 พบว่า มีสถิติข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่รายงานว่า ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2565 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 200 ครั้ง ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยบางส่วนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้ในปี 2565 มีรายงานเหตุการณ์ปะทะกันและนำมาซึ่งการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยหรือบุคคลตามหมายจับในคดีความมั่นคงหลายกรณี ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานความมั่นคงในประเด็นการวิสามัญฆาตกรรม เช่น การให้องค์กรอิสระ ตัวแทนญาติ และผู้นำศาสนา สามารถเข้าจุดตรวจสอบหลักฐานการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุในรัศมีที่กำหนดได้ การติดตั้งกล้องระหว่างการปฏิบัติงานไว้บนหมวกหรือเสื้อที่ตัวเจ้าหน้าที่ และการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ซึ่งไม่นานมานี้ กสม. โดยสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้มีการหารือร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าถึงแนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ถูกควบคุมตัว และแนวทางในการเข้าถึงภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบรับข้อเสนอแนะของ กสม. ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยกระทรวงกลาโหมรายงานว่าได้อบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของข้อเสนอแนะที่ให้กระทรวงกลาโหมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขตรวจประเมินสุขภาพจิตใจของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการซักถามทั้งก่อนและหลัง และเปิดโอกาสให้สามารถร้องขอการตรวจร่างกายและประเมินสภาพจิตใจจากแพทย์ที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานความมั่นคงควบคู่ไปกับการตรวจของแพทย์ในสังกัดหน่วยงานความมั่นคงนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว

“พื้นที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ด้วยความซับซ้อนของสถานการณ์ปัญหาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งพลังงานและอุตสาหกรรม กสม. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่ ซึ่งสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้นี้ เป็นกลไกในระดับภูมิภาคแห่งแรกที่ กสม. จัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนจังหวัดภาคใต้ได้รับความสะดวกและสามารถเข้าถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เปิดผลสอบกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงาน 'ฟุตบอลจตุรมิตร' ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก

กสม. เผยผลสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงานฟุตบอลจตุรมิตร ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก แต่มีข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียนทั้งสี่เพื่อให้งานดียิ่งขึ้น

ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร  ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น  

กสม. สอบปมตำรวจเรียกรับเงิน-กระทำชำเราผู้ต้องหา

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่ากสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเข้าข่ายการกระทำความ

กสม. เผยผลการตรวจสอบศูนย์บำบัดยาเสพติดจ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนละเมิดสิทธิฯ

กสม. ตรวจสอบกรณีศูนย์บำบัดยาเสพติดใน จ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานสนับสนุนจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

กสม.ชี้นายทะเบียนปฏิเสธจัดทำทะเบียน 'กลุ่มคนไร้รากเหง้า' เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้กรณีนายทะเบียนอำเภอเมืองตราดปฏิเสธการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะกรมการปกครองแก้ไขและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่