ผู้ว่าฯ ภูเก็ตสั่งเตรียมพร้อมรับภัยสึนามิ หลังชาวภูเก็ตผวาคำว่า 'นิโคบาร์-แผ่นดินไหวในทะเล' ปภ.ภูเก็ต เผย เตรียมฝึกซ้อมอพยพหนีภัย 20 ก.ค.นี้
06 ก.ค.2565 - นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วงนี้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล เกี่ยวกับคำว่านิโคบาร์ คำว่าแผ่นดินไหวในทะเลที่เกิดขึ้น จำนวน 23ครั้ง ประกอบกับน้ำทะเลหนุนขึ้นมาทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้วิตกกังวลว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ได้กำชับให้นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าฯ ร่วมกับ ปภ.ภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าติดตาม สถานการณ์อย่างใกล้ชิดและทุกหน่วยงานถ้าเกิดเหตุต้องเข้าพื้นที่ทันทีอย่าให้ล่าช้า และให้เตรียมเครื่องมือสำรวจอุปกรณ์ต่างๆให้เรียบร้อย
“ยังไม่น่ากังวลมาก แต่มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว เพราะไม่ทราบจะเกิดอะไรขึ้นมา ซึ่งชาวภูเก็ตได้เคยมีประสบการณ์สึนามิมาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แต่เราก็ไม่ประมาท มีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ และการเตรียมการสำคัญ คือ การดูแลพี่น้องประชาชน " นายณรงค์กล่าว
ด้านนายอุดมพร กาญจน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงนี้มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ปริมาณน้ำฝนเกินค่าเฉลี่ยมาตรฐานทำให้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.มีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมา ซึ่งในวันดังกล่าวกรมอุทกศาสตร์แจ้งว่าน้ำทะเลหนุนประมาณ 3 เมตร ประกอบด้วยคลื่นแรงจึงซัดเข้ามาชายฝั่งบนถนนหาดทรายแก้ว และหลายแห่งในภูเก็ต
"ยืนยันว่า น้ำทะเลหนุนสูง ไม่เกี่ยวกับสึนามิ ซึ่ง ปัจจัยที่ทำให้เกิดสึนามิต้องมีแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนที่นิโคบาร์ประมาณกว่า 7 ริกเตอร์ โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้มีการเฝ้าระวังกันตลอดกับปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว และสึนามิในฝั่งทะเลอันดามัน ประเทศไทย มีการตรวจวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง จังหวัดพังงา และกรณีทุ่นสึนามิ ตอนนี้ทุ่นหลุดอยู่ แต่สามารถรับรู้ได้เตือนภัยได้ จากข้อมูลเฝ้าระวังร่วมกับหน่วยงานภาคีหลายประเทศ ของ NOOA ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเฝ้าระวังอยู่แล้วมีการตรวจสอบแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันที่มีการเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 4.7 ริกเตอร์ หลายครั้ง ในวันที่ 4-5 ก.ค. ขนาดของการไหวประมาณกว่า 4 ริกเตอร์ไม่กระทบต่อประเทศไทย”
นายอุดมพรกล่าวว่า มีการติดตามสถานการณ์ตลอด และได้ทดสอบสัญญาณเตือนภัยทุกวันพุธ เวลา 08.00น. ด้วยเสียงเพลงชาติ ไปที่หอเตือนภัยจำนวน 19 จุด ทั่วเกาะภูเก็ต เสียงสัญญาณดี และถ้าเกิดเหตุการณ์จริงจะมีเสียงแจ้งเตือน 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษารัสเซีย ในการแจ้งเตือนจะแจ้ง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 แจ้งขนาดความสั่นของแผ่นดินไหว ครั้งที่ 2 แจ้งให้เตรียมความพร้อมอพยพหนีภัย ซึ่ง ภูเก็ตมีเวลาเตรียมตัว 1 ชั่วโมงบวกบวก การเอาตัวรอดของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแบบแนวดีด เกิดสึนามิ น้ำทะเลจะลดลงก่อน ทีมเฝ้าระวังจะวิเคราะห์ และแจ้งให้ทราบก่อนแจ้งเตือน โดยทีมกรมอุตุนิยมวิทยาส่งข้อมูลมาที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ วิเคราะห์และแจ้งให้เสียงสัญญาณเตือนภัยไปตามหอต่างๆได้เลย มีเส้นทางอพยพหนีภัยสึนามิ ไปยังจุดปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ รอบเกาะภูเก็ต ซึ่งกำหนดการฝึกซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิ ในวันที่ 20 ก.ค.2565 เวลา 10.00น. ในพื้นที่ อ.ถลาง จังหวัดภูเก็ต ทางอำเภอถลางจะประชุมกำหนดสถานที่ก่อนทำการฝึกซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ อาทิ การบัญชาการเหตุการณ์ การเตรียมความพร้อมและการอพยพหนีภัย ขอให้มั่นใจได้ว่าระบบเตือนภัยของภูเก็ตครอบคลุม มีแผนการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้านหน่วยเฝ้าตรวจและรายงานการเคลื่อนตัวของคลื่น เกาะเมียง กองทัพเรือ(นตค.เกาะเมียง ) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่มีการตรวจพบว่าเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล ขนาด 4.5 - 5.6 ที่ความลึก 10 - 250 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 4 เวลา 12.35 น. จนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ณ บริเวณใกล้กับชายฝั่งของหมู่เกาะอันดามันแอนด์นิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ห่างจากชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 540 กิโลเมตร จำนวนหลายครั้งตลอดทั้งวัน นั้น ได้ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต่างเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ทัพเรือภาคที่ 3 โดย หน่วยเฝ้าตรวจและรายงานการเคลื่อนตัวของคลื่น เกาะเมียง กองทัพเรือ (นตค.เกาะเมียง) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเมียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ในทะเลด้านทิศตะวันตกสุดของประเทศไทย ได้ทำการตรวจสอบความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ในการวัดระดับน้ำ และทำการฝึกซ้อมการแจ้งเตือนภัยสึนามิอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับเครื่องตรวจวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง เป็นแบบเรดาร์ยิงความถี่ลงสู่พื้นน้ำทะเล โดยใช้แรงดันของน้ำสะท้อนคลื่นกลับมายังเรดาร์ แล้วส่งคลื่นความถี่ไปยังระบบประมวลผลเพื่อแปลงเป็นค่าของระดับน้ำ พร้อมส่งค่าดังกล่าวผ่านเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมแบบ REAL TIME ไปยังศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทกศาสตร์ สามารถแสดงผลของระดับน้ำที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็น 3 ระดับ คือ 5 , 60 และ 120 วินาที ได้มีการจัด เจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วน ทัพเรือภาคที่ 3 โทร.076391598 ทัพเรือภาคที่ 3 ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ฝั่งอันดามันว่า ทุกระบบเตือนภัยสินามิที่เกาะเมียง มีความพร้อม 100%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ผบ.ทบ.’ ลงพื้นที่ปทุมธานี ประสานความร่วมมือ รับมวลน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น
พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทานกองทัพบก เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ
น้ำทะเลหนุน! กรมชลฯ เฝ้าระวังระดับน้ำ 7 พื้นที่เสี่ยงลุ่มเจ้าพระยา
กรมชลประทาน คาดการณ์ระดับน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 3 วันล่วงหน้า (13-15 ต.ค. 67)
ศปช.เตือน 13-24 ต.ค.เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน
'ศปช.'เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน สั่งบริหารการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ให้สมดุลบรรเทาความเดือดร้อน0ประชาชน ด้าน 'ศปช.ส่วนหน้า' เดินหน้าฟื้นฟู เชียงราย-เชียงใหม่ ตามแผน
'ภูเก็ต' จับตาสถานการณ์ 24 ชม. หลังฝนถล่มต่อเนื่อง น้ำทะเลหนุนสูง
งานประชาสัมพันธ์เทศบาลนครภูเก็ต เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา นายศุภโชค ละอองเพชร นายสุทธิพันธ์ สกุลเทพ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต