ลมหายใจเฮือกสุดท้าย 'รถคอกหมู' ความสุข ความทรงจำ ในวัยเยาว์

26 มิ.ย.2565 – รถโดยสารคอกหมู หรือรถสองแถวไม้ เอกลักษณ์ของ จ.สุโขทัย มีมายาวนานถึง 85 ปี โดยรถโดยสารประจำทางคันแรกของเมืองสุโขทัย เจ้าของคือ “แป๊ะเซี่ยงเชย แซ่โง้ว” วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่าง อ.เมืองสุโขทัย กับ อ.กงไกรลาศ เมื่อปี พ.ศ. 2480 ถนนสิงหวัฒน์เพิ่งจะสร้าง สมัยนั้นยังไม่เรียกรถคอกหมู แต่เพิ่งมาเรียกกันภายหลังตามลักษณะตัวรถ ที่มีไม้กั้นเป็นคอกเหมือนคอกหมู ประกอบกับสมัยก่อนเคยมีรถโดยสารจาก จ.แพร่ วิ่งรับ-ส่งมาถึงที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โครงตัวถังเป็นไม้สักทรงสี่เหลี่ยมคล้ายคอกหมู มีที่ขึ้นด้านข้าง ชาวบ้านเรียกกันว่ารถคอกหมู ต่อมาจึงถูกใช้เรียกกับรถโดยสารของสุโขทัยด้วย เพราะมีทรงคล้ายคอกหมูเหมือนกัน เป็นที่มาของคำว่า “รถคอกหมู” จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยไปในที่สุด

และรถโดยสารคอกหมู ยังถือเป็นภาพจำความสุขของเด็กสุโขทัย ในช่วงเป็นนักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีโอกาสได้นั่งมาเรียนเป็นประจำ บ้างก็ยืนห้อยโหน สมัยก่อนถึงขั้นต้องปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ เพราะคนใช้บริการเยอะมาก แต่ทว่าปัจจุบัน หลังเจอวิกฤตโควิด-19 เมื่อปี 2563 ยังไม่ทันฟื้นตัว ก็ดันมาเจอวิกฤตน้ำมันแพงซ้ำอีก ประกอบกับคนใช้บริการเหลือน้อย เพราะส่วนใหญ่มีรถส่วนตัวใช้กัน ทำให้ทุกวันนี้ “รถคอกหมู” เอกลักษณ์ของสุโขทัย จวนสิ้นลมหายใจ และจ่อปิดตำนานอย่างถาวร

นายสมชาย  เรืองคำ อายุ 73 ปี เจ้าของรถโดยสารคอกหมู (สายสุโขทัย-เมืองเก่า) เปิดเผยว่า รถคอกหมูสายสุโขทัย-เมืองเก่า มีทั้งหมด 20 กว่าคัน ปัจจุบันเหลือวิ่งกันแค่ 6 คัน เพื่อคอยรับ-ส่งนักเรียน นักศึกษา แต่ก็ยังขาดทุนอยู่ดี เพราะค่าน้ำมันแพง แล้วประชาชนนักท่องเที่ยวก็ไม่มีมาใช้บริการ อนาคตก็คงต้องยุบเส้นทาง ส่วนจะดันวิ่งต่อได้อีกกี่ปี คิดว่าเอาแค่ปีนี้ให้รอดก่อนก็พอ

นายมานิตย์  อยู่แย้ม อายุ 54 ปี เจ้าของรถโดยสารคอกหมู ระบุว่า ที่วิ่งกันตอนนี้ก็ไม่คุ้มค่าน้ำมัน แต่ที่เห็นยังมีวิ่งอยู่ก็เพราะเป็นห่วงเด็กนักเรียน กลัวจะไม่มีรถนั่งมาโรงเรียน ส่วนจะวิ่งได้นานแค่ไหน คงต้องดูสถานการณ์กันไปเรื่อยๆ ใครที่วิ่งต่อไม่ไหวก็คงต้องจำใจขายรถทิ้ง

ขณะที่น้องๆนักเรียน บอกว่า ชอบนั่งรถคอกหมูมาโรงเรียน เพราะสะดวกสบาย บรรยากาศดี ค่าโดยสารก็ถูก 5-10 บาท แถมได้นั่งคุยระลึกความหลังกับเพื่อนๆ และไม่ต้องให้ผู้ปกครองมารอรับ นั่งรถกลับบ้านเองได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ รู้สึกเศร้า เสียดาย ถ้าไม่มีรถคอกหมูก็คงลำบาก ต้องให้พ่อแม่คอยมารับ-ส่ง หรือไม่ก็ต้องซื้อรถเพื่อขับขี่มาโรงเรียนเอง.

เพิ่มเพื่อน