เงินสะพัด! หมู่บ้านล่าตุ๊กแกส่งจีน ทำรายได้ครอบครัวละ 5 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อเดือน

24 มิถุนายน 2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนม ว่า หลังสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย ส่งผลดีต่อหลายอาชีพ เศรษฐกิจค้าขายของชาวบ้านกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังซบเซามานานกว่า 2 ปี เช่นเดียวกับหมู่บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพแปลกกว่าที่ใด ทั้งจับตุ๊กแก ไส้เดือน ปลิงแปรรูป ส่งขายต่างประเทศ สร้างรายได้มานานกว่า 30 ปี

โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นฤดูกาลของการจับตุ๊กแก หลังโควิดซาทำให้บรรยากาศการค้าขายตุ๊กแก กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยก่อนนี้ซบเซาจากผลกระทบโรคโควิดระบาด การเดินทางข้ามจังหวัดไปมาลำบาก และยังกระทบต่อการส่งออก แต่หลังโควิดคลี่คลายชาวบ้านสามารถออกไปล่าตุ๊กแกตัวเป็นๆมาทำการแปรรูปส่งขายไปประเทศจีน สร้างรายได้ครอบครัวละ 50,000 – 100,000 บาทต่อเดือน ถือว่าไม่ขี้เหร่และขึ้นอยู่ที่ความขยัน รวมถึงความสามารถในการหา

ในหมู่บ้านแห่งนี้มีการค้าขายครบวงจรรับซื้อทั่วประเทศ ทั้งการรับซื้อตัวสด ในราคาตัวละ 30-40 บาท ส่วนหลังแปรรูปเป็นตุ๊กแกอบแห้งจะขายในราคาตัวละ 50 -60 บาท ขึ้นอยู่ตามขนาดตัวเล็กหรือใหญ่ อีกทั้งมีการจ้างแรงงานแปรรูปครบวงจร เป็นการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือน มีเงินกลับมาหมุนเวียนสะพัดอีกครั้ง โดยจากข้อมูลพบว่า แต่ละปีจะมีเงินหมุนเวียนจากอาชีพแปรรูปตุ๊กแกส่งออกปีละหลาย 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายชาญชัย ปาทา อายุ 65 ปี ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านผู้ค้าตุ๊กแก บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ยังมีการโชว์เมนูเด็ด ผัดเผ็ดตุ๊กแก การันตีความอร่อยยืนยันว่ากินเป็นอาหารได้เชื่อเป็นยาสมุนไพรชูกำลัง และชาวบ้านถือเป็นยารักษาโรคโปลิโอ ให้กับลูกหลานมาแต่โบราณ หากมีลูกหลานไม่ชอบกินข้าวหัวโตก้นลีบ จะนำตุ๊กแกมาปรุงเป็นอาหารให้กินเป็นยา ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งเด็กกินแล้วหายจริง ส่วนปัจจุบันไม่นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว เพราะเนื้อตุ๊กแกถือว่ามีราคาแพง จึงจับมาขายแปรรูปส่งออกทำเงินแทน

นายชาญชัย ปาทา เล่าต่อว่าสำหรับบ้านตาลได้ฉายาว่าหมู่บ้านปริศนา เนื่องจากจะมีอาชีพแปลกตามฤดูกาล เช่นในช่วงฤดูฝนจะจับปลิงกับตุ๊กแก แปรรูปขาย ส่วนฤดูหนาวจะเป็นไส้เดือน โดยทำกันเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมากว่า 30 ปี ภายหลังมีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อ แนะนำให้ทดลองแปรรูป ทีแรกทำกันในครัวเรือนแคบๆ หลังลองผิดลองถูกจนมีความชำนาญ สามารถแปรรูปส่งขายได้ราคา ก็มีคนในหมู่บ้านหันมาทำอาชีพดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น สำหรับช่วงนี้จะเป็นการซื้อตุ๊กแกสดมาแปรรูป เป็นการรวมกลุ่มกันในหมู่บ้าน มีคนออกไปล่าตามหมู่บ้านใกล้เครียง หรือไปรับซื้อกับเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน

จากนั้นจะพักการรับซื้อชั่วคราว เพราะเป็นฤดูกาลวางไข่ขยายพันธุ์ ที่ผ่านมายืนยันไม่กระทบต่อการขยายพันธุ์ ทำมา 30 ปี ยังมีตุ๊กแกให้รับซื้อตลอด ส่งขายไปประเทศจีนออเดอร์รับไม่อั้น โดยจะต้องผ่านการแปรรูปก่อน ส่วนตัวสดจะซื้อในราคาตัวละประมาณ 30 -40 บาท ตัวแห้งแปรรูปจะขายในราคาตัวละประมาณ 50 -60 บาท แต่ละเดือนเฉพาะกลุ่มของตน แปรรูปส่งขายสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว มีพ่อค้าชาวจีนรับซื้อไม่อั้น สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดรวมกันวันละเป็นแสน บางครอบครัวแปรรูปขายเอง ทำเงินได้เดือนละเป็นแสนบาทเช่นกัน ส่วนคนที่ออกไปล่ามาขายจะมีรายได้ดีเช่นกันวันละหลายพันบาท ถือเป็นอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ครบวงจรให้กับชุมชน ยิ่งช่วงโควิดซาทำให้การค้าขายตุ๊กแกกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ด้าน นางนุจรินทร์ โคตบิน อายุ 51 ปี ชาวบ้านตาลใหญ่ ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม อาชีพแปรรูปตุ๊กแกส่งออกขาย เปิดเผยว่า ตุ๊กแกที่รับซื้อสดจะนำมาแปรรูป เริ่มจากการชำแหละเอาเครื่องในออก ส่วนอื่นยังต้องอยู่ครบ รวมถึงหางจะต้องไม่ขาด จากนั้นจะช่วยกันในครอบครัวทำคนละหน้าที่ แปรรูป อีกคนจะนำตุ๊กแกมาขึงใส่ไม้แบบตามขนาด จะมีการวัดขนาดความกว้าง ส่วนใหญ่จะมีขนาดตัวละ 12-15 เซนติเมตร จากนั้นจะใช้เหล็กหนีบขึงให้หนังตุ๊กแกตึง ขึงขาทั้ง 4 ข้างกางออก รวมถึงมัดหางใส่ไม้เป็นก้านยาว ก่อนที่จะนำไปอบรมควันประมาณ 1 คืน เพื่อให้หนังแห้งไม่ให้เกิดปัญหาเน่าเสียเวลาแพ็กส่งไปขาย ถือว่าสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในแต่ละวันจะมีการแปรรูปวันละ 400-500 ตัว จะมีทั้งรับจ้างแปรรูปตัวละประมาณ 7-10 บาท ส่วนขายสดตัวละ 30-40 บาท ตากแห้งตัวละ 50-60 บาทตามขนาด แต่ละเดือนหักค่าใช้จ่ายแล้ว สร้างรายได้ดีพอสมควรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000-20,000 บาท มีเงินสะพัดในหมู่บ้านวันละนับแสน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จังหวัดแรกในไทย! นครพนมพบผู้มีอายุ 100 ปี ครบ 100 คน

นครพนมจัดงานเฉลิมฉลอง พบผู้มีอายุ 100 ปี ครบ 100 คนแห่งแรกในไทย "คุณตาวัย 101" เล่าภาคภูมิใจรับใช้ชาติ สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอินโดจีน มีหลานเหลน 35 คน

ยิ่งใหญ่! งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 'น้ำตาล-กัปตันชมพู่' ร่วมรำถวาย

เปิดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช 'น้องน้ำตาล-กัปตันชมพู่' พร้อมสาวงามนับพัน รำถวายพ่อปู่ พลังศรัทธายิ่งใหญ่เหนือคำบรรยาย จัดพานบายศรีสูงสุดในไทย

วันที่ 7 เดือน 7 ฉลองยิ่งใหญ่ 'แลนด์มาร์กพญานาค'

ครบ 8 ปีกำเนิดแลนด์มาร์กพญานาค จากพลังศรัทธาสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก ถือฤกษ์บวงสรวงวันที่ 7 เดือน 7 ทุกปี พานบายศรีสูงสุดในประเทศ และนางรำ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ

ยึดรายวันยาบ้าริมโขง ทหารพรานสกัดได้กว่า 2 แสนเม็ด

ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2101 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (ร้อย ทพ.2101 ฉก.21 กกล.ฯ) บ้านปากห้วยม่วง ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.อินทราวุธ ทองคำ ผบ.กรม ทพ.21/ผบ.ฉก.ทพ.21 ร.ท.วันชาติ