ขุดค้นวัดร้าง 'บ้านหนองจันทร์' สมัยเป็นเมืองมรุกขนคร คาดใหญ่สุดในจ.นครพนม

กรมศิลปากรขุดค้นวัดร้างโบราณบ้านหนองจันทร์ สมัยเป็นเมืองมรุกขนคร พบร่องรอยความยิ่งใหญ่ทางพระพุทธศาสนา มีศาสนสถานคาดใหญ่สุดในจังหวัด

22 มิ.ย.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากสํานักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด ได้สํารวจทางโบราณคดีในพื้นที่อําเภอเมืองนครพนมในปี พ.ศ.2552 และปี พ.ศ.2560 ได้พบโบราณสถานรวมทั้งสิ้น จํานวน 30 แห่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นซากวัดร้าง จึงทําให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า กลุ่มโบราณสถานดังกล่าวน่าจะส่วนหนึ่งของหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองมรุกขนครในอดีต

ต่อมาต้นปี 2565 สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี โดยนายสมเดช ลีลามโนธรรม ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี พร้อมด้วย นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ และนางสาวณิชกุล วัฒนกุล ผู้ปฏิบัติงานด้านบันทึกข้อมูลทางโบราณคดี ได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณสถานมรุกขนคร ได้แก่ วัดร้างศรีจันทร์,วัดธาตุเมืองเก่า (วัดแต้มร้าง),วัดร้างนาป่ง (วัดก้อนเส้า) ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามวัดของโครงการขุดค้นและขุดแต่งเมืองเก่ามรุกขนคร โดยเคยเป็นพื้นที่ตั้งของเมืองนครพนมเดิม

โดยวัดร้างศรีจันทร์ตั้งอยู่บ้านหนองจันทร์ หมู่ 1 ต.ท่าค้อ อยู่ติดฝั่งแม่น้ำโขง ก่อนหนาที่จะมีการขุดค้นมีเพียงเจดีย์อยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น ใกล้กับองค์เจดีย์มีพระพุทธรูป 2 องค์ประดิษฐานอยู่ในศาลาที่ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ เมื่อกลุ่มโบราณคดีเข้ามาแผ้วถางป่าที่รกครึ้มบริเวณนั้น ก็พบเนินดินไม่น้อยกว่า 4 แห่ง เชื่อว่าใต้พื้นดินแห่งนี้จะมีซากปรักหักพังให้สืบค้นร่องรอยประวัติศาสตร์ของเมืองมรุกขนคร

ผลการขุดสำรวจพบร่องรอยของแนวอิฐของเจดีย์โดยเรียงตัวยาวในแนวระนาบเหนือ-ใต้ เบื้องต้นพบร่องรอยที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ตัวเจดีย์ที่มีองค์ประกอบของฐานเขียงผังสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้นเพื่อรองรับฐานปัทม์ผังแปดเหลี่ยมที่ซ้อนกันลดหลั่นขึ้นไปสามชั้น โดยมีองค์ระฆังตั้งอยู่ด้านบนและส่วนปลายยอดพัง ทั้งนี้บริเวณตรงกลางฐานเจดีย์ถูกขโมยเจาะเป็นโพรงเพื่อหาสมบัติ

นอกจากนี้ยังพบเศียรพระพุทธรูปขนาดเล็กทำด้วยหินทรายปรากฏอยู่ในหอพระ เศษกระเบื้องหลังคาดินเผา/ดินขอจำนวนมาก ทั้งยังพบแผ่นกระเบื้องหลังคาดินเผาที่มีสภาพสมบูรณ์ และโลหะสำหรับยึดกระเบื้องหลังคา ที่น่าสนใจคือพบโลหะลักษณะคล้ายดาบสองชิ้น ฝังอยู่บริเวณใกล้กับองค์เจดีย์ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง มีผู้รู้เสนอว่าน่าจะเป็นตุง(ทุง)/ธงกระด้าง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ล้านนารับมาจากพม่า และดินแดนล้านช้างอาจรับมาอย่างแพร่หลายในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาฯ สำหรับถวายบูชาแด่พระรัตนตรัย โดยส่วนปลายทั้งสองด้านมักจะทำให้แหลมใช้แขวนติดกับเสา นิยมถวายเป็นคู่ไว้หน้าพระประธานหรือหน้าอุโบสถ วิหาร บางแห่งทำไว้กลางลานวัดหรือใกล้พระเจดีย์

ทั้งนี้ บริเวณฝั่งตรงข้ามของเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก พบฐานของวิหารขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีวิหารเล็กอยู่เหนือขึ้นมาทางทิศตะวันออก ส่วนเนินดินที่อยู่อีก 2 จุดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังไม่ได้ลงมือขุดประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝนจึงชะลอการค้นหาก่อน คาดว่าวัดร้างศรีจันทร์แห่งนี้ในอดีตเป็นวัดขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดในนครพนมเท่าที่ขุดค้นมา

ล่าสุด วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับนายกข้ามเพศคนดังนายพิชญา โพชราษฎร หรือสาวแพนต้า นายก อบต.ท่าค้อ ได้รับการเปิดเผยว่าทาง อบต.ฯหากได้รับการมอบพื้นที่จากกรมศิลปากรก็จะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ให้เยาวชนศึกษา แต่ทุกวันพุธก็นำเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดอยู่ประจำ

ด้าน นายวิทนะ กรุงเกตุ นักพัฒนาการท่องเที่ยว อบต.ท่าค้อ เผยว่าการขุดค้นร่องรอยยังไม่จบ วัดร้างศรีจันทร์มีเนื้อที่กว้างประมาณ 5 ไร่กรมศิลปากรต้องเดินหน้าขุดค้นต่อไป เท่าที่ทราบขณะนี้กรมศิลปากรส่งตัวอย่างอิฐให้ต่างประเทศพิสูจน์ว่าวัดแห่งนี้มีอายุกี่ปี

ส่วน น.ส.ญาณณ์ณิศา พรหมวิศาสตร์ ผอ.กองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบต.ท่าค้อ กล่าวว่ารู้สึกตื่นเต้นจากการขุดค้นประวัติศาสตร์ของเมืองมรุกขนคร ถือว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์มากที่ค้นพบร่องรอยศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ เหนือความคาดหมายของคนในพื้นที่มาก ขณะที่วัดโบราณอีกสองแห่งก็ค้นพบวัตถุโบราณ รวมข้าวของเครื่องใช้ของบรรพบุรุษจำนวนมาก แต่ผู้ที่จะเล่าถึงประวัติได้ดีที่สุดต้องให้กรมศิลปากรเป็นผู้นำเสนอ เพราะเขามีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ

ชื่อเมืองมรุกขนครมีชื่อปรากฏตามอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารได้เรียบเรียงไว้ตอนหนึ่งว่า สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรณ์ มีพุทธทำนายว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วเมืองศรีโคตรบูรณ์จักย้ายไปตั้งที่ป่าไม้รวก มีนามว่าเมืองมรุกขนคร ซึ่งสันนิษฐานกันว่าหมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวก ตามสภาพภูมิประเทศที่สร้างบ้านแปงเมืองนั้นเอง

ประมาณ พ.ศ.500 สมัยพญาสุมิตรธรรม ผู้ครองเมืองมรุกขนคร เป็นกษัตริย์ผู้มีจิตศัรทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบมีงานฉลองสมโภชอย่างมโหฬาร ซึ่งพระอุรังคธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์อัศจรรย์ยิ่ง ทำให้พญาสุมิตรธรรมบังเกิดความปิติโสมนัสมาก นอกจากถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังมอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง 7 แห่งในเขตแดนนั้นเป็นผู้ดูแลรักษาองค์พระธาตุ

หลังจากสิ้นพญาสุมิตรธรรม ได้มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ ก็เกิดเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์จนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ.1800 เจ้าศรีโคตรบูรณ์ได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขกบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ใน พ.ศ. 2057 สมัยพระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศราชธานีศรีโคตรบูรณ์ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็นเมืองศรีโคตรบูรณ์ตรงตามชื่ออาณาจักรเดิม ในสมัยนี้ยังมีการบูรณปฎิสังขรณ์พระธาตุพนมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2280 พระธรรมราชาเจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์องค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าไปทางเหนือแล้วขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนคร จากนั้นมีการโยกย้ายชุมชนเมืองอีกหลายครั้ง

พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางเหนือ 52 กิโลเมตร และในปี พ.ศ. 2333 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยพระองค์ทรงพระราชทานนามใหม่ขึ้นว่านครพนม ส่วนชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่า เมืองนครเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงได้ใช้ชื่อว่า นคร ส่วนคำว่า พนม ก็มาจากพระธาตุพนม ปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เดิมเมืองมรุกขนครตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า พนม ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ นครพนม จึงหมายความถึง เมืองแห่งภูเขา นั่นเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก

วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย

แก๊งยาเสพติดข้ามชาติ ยัดผงขาว-ไอซ์ มูลค่ากว่า 100 ล้าน ในองค์พระพุทธรูป

ที่หน้ากองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 237 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 (ร้อย ตชด.237 กก.ตชด.23) พล.ต.ฉัฐชัย มีชั้นช่วง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) และ  รองผู้บัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด

'นครพนม' ขานรับ 'ธวัชบุรีโมเดล' นำร่อง อ.ศรีสงคราม เส้นทางโจรลำเลียงยาบ้าเข้าตอนใน

พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 (ผอ.กอ.รมน.2) ผู้บัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (ผบ.นบ.ยส.24)

'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี

กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย 

ตม.นครพนม คุมเข้มสกัด 'แก๊งสแกมเมอร์ทิพย์' ปมเจ๊อ้อยโอนเงิน 39 ล้าน

กรณี ตำรวจกองปราบปราม กองบังคับการ 3 ร่วมกับชุดสืบสวนของกองกำกับการ 5 ตำรวจทางหลวง นำกำลังเข้าสกัดจับกุม ทนายตั้ม-นายษิทรา เบี้ยบังเกิด อายุ 43 ปี ในคดีหลอกลวงเงิน น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย ตามหมายจับศาลอาญา

ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ

ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา  ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์