ชาวบ้าน 8 หมู่บ้านรอบป่าแก่งกระจานจับมือแก้สารพัดปัญหา วอนรัฐฟังเสียงชุมชน-ร่วมหาทางออก ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยโวยผู้บริหารฟังแต่เจ้าหน้าที่-ละเลยเสียงชาวบ้าน กสม.-นักวิชาการ-IUCN ร่วมให้กำลังใจ
20 พ.ค.2565 - ที่ริมแก่งรีสอร์ท อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตัวแทนชาวบ้านรอบผืนป่าแก่งกระจาน 8 หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ กว่า 50 คนได้ประชุม “ร้อยร่วมชุมชนผืนป่าแก่งกระจาน” เพื่อสะท้อนปัญหาของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีทั้งปัญหาร่วมและปัญหาเฉพาะที่พวกเรานำมาถักทอเพื่อเป็นพลังนำไปสู่การร่วมกับภาคีอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยได้เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ อาทิ นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวุฒิ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวปกากญอจากผืนป่าตะวันตก นายประทีป มีคติธรรม ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)
ในช่วงท้ายของการประชุมชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์โดยระบุว่า ผืนป่าแก่งกระจานและชุมชนของพวกเราอยู่ร่วมกันมายาวนาน บรรพบุรุษของพวกเราได้พึ่งพาป่าผืนแห่งนี้ในการดำรงชีวิตและวิถีสืบต่อกันมา ขณะเดียวกันผืนป่าก็ได้รับการปกป้องดูแลจากชุมชน ทำให้ผืนป่าแก่งกระจานคงความอุดมสมบูรณ์มาถึงวันนี้ แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อวิถีชีวิตพวกเราถูกละเลยและถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับการอนุรักษ์ โดยมีการจัดการป่าแบบรวมศูนย์ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเข้ามาครอบครองผืนป่าซึ่งได้มีการก่อตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจานตั้งแต่ปี 2524 โดยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิของชุมชนดั้งเดิมและชุมชนที่อยู่มายาวนาน ชาวบ้านทั้งในและรอบผืนป่าตกเป็นจำเลยของหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด
แถลงการณ์ระบุว่า กว่า 40 ปีที่เกิดการเผชิญหน้าทั้งทางตรงและทางอ้อมระหว่างอุทยานฯ และชุมชน เนื่องจากภาคราชการไม่ได้เข้ามาฟังเสียงชาวบ้านอย่างแท้จริง มีโครงการต่างๆ เข้ามามากมายที่เพื่อพัฒนาชุมชนแต่กลับไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่า ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น โดยการอพยพชาวบ้านบางกลอยจากกลางป่าใหญ่ใจแผ่นดินเมื่อปี 2539 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่รัฐไม่ให้ความสนใจกับทุนชีวิต ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่และสะสมมาเป็นร้อยปี ของความล้มเหลวในนโยบายรัฐที่อ้างการอนุรักษ์โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง สุดท้ายชาวบ้านกลายเป็นเหยื่อของนโยบายความผิดพลาดและภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงวันนี้ เช่นเดียวกับปัญหาที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านรอบกลมป่าแก่งกระจานต้องเผชิญปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากการไม่รับฟังเสียงและไม่ยอมรับสิทธิที่แท้จริงของคนอยู่กับป่า
แถลงการณ์ระบุว่า ขณะที่ชาวบ้านจำนวนมาก รอบผืนป่าเป็นชาวกะเหรี่ยงยังคงประสบปัญหาสถานะบุคคลและการแก้ไขเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ สิทธิต่างๆ รวมถึงการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกกล่าวร้ายให้เป็นนักล่าสัตว์ป่า มีการประโคมข่าวและโยนความผิดให้ชาวบ้าน แต่กลับไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถึงขบวนการค้าสัตว์ป่าและเข้าถึงรากลึกของปัญหา ขณะที่ชาวบ้านบางพื้นที่ต้องเผชิญหน้ากับช้างป่า โดยที่อุทยานฯ ไม่สามารถนำมาตรการที่ได้ผลมาใช้เพื่อลดความขัดแย้ง รวมถึงการเยียวยาได้รับผลกระทบ ในยามใดที่ช้างป่าเสียชีวิตกลายเป็นเรื่องใหญ่มีการตีข่าวอย่างครึกโครม เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ในวันที่ชาวบ้านถูกช้างกระทืบตาย กลับเงียบหายราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น “ช้างตายเป็นข่าว แต่ช้างฆ่าคนตายไม่เป็นข่าว”
ปัจจุบันหลายชุมชนที่อยู่รอบป่ายังไม่มีไฟฟ้าใช้และบริการของรัฐเข้าไม่ถึงเนื่องจากข้อติดขัดระเบียบข้อกฎหมายของอุทยานฯ แม้ชาวบ้านพยายามเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาแต่ดูเหมือนไม่มีความคืบหน้าใดๆ
“เทือกเขาตะนาวศรีและป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ลำน้ำภาชี แม่ประโดน แม่ประจันต์ บางกลอย แม่น้ำเพชรจนถึงแม่น้ำปราณ เป็นที่อยู่ของชาวบ้านมานับร้อยนับพันปี แต่วันนี้ชาวบ้านรอบผืนป่ากลับกลายเป็นจำเลยของอุทยานฯและสังคม วันนี้ชาวบ้านใน 3 จังหวัดรอบผืนป่าแก่งกระจานได้ร่วมกันเรียงร้อย ถักทอกันเป็นเครือข่ายเพื่อปกป้องดูแลผืนป่า และร่วมกับคิดหาแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างคนและธรรมชาติ หวังว่าผู้บริหารบ้านเมืองจะรับฟังเสียงของพวกเรา” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ในที่ประชุมชาวบ้านได้สะท้อนสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ทั้งในเรื่องที่ดินที่เกิดข้อพิพาทกับอุทยาน เรื่องปัญหาสถานะบุคคลที่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากประสบปัญหาจากการไม่มีบัตรประชาชน รวมถึงปัญหาเฉพาะพื้นที่ทั้งในเรื่องการเผชิญหน้ากับช้างป่าที่เข้ามากินพืชผลการเกษตร เรื่องไม่มีไฟฟ้าเนื่องจากติดขัดเพราะต้องผ่านพื้นที่อุทยานฯ ขณะที่ปัญหาของชาวบ้านบางกลอยก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐทำให้ชาวบ้านต้องอยู่อย่างยากลำบาก
นายนิรันดร์ พงษเทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านถูกจัดเก็บภาษีที่ดินโดยคิดเป็นแปลงรวมและไม่ได้บอกล่วงหน้าหรือมีคำอธิบายที่ชัดเจน ตอนนี้คนในหมู่บ้านกำลังเถียงกับเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านค่อนข้างหัวเสียเพราะไม่รู้ว่าเสียไปแล้ว อนาคตที่ดินจะเป็นของชาวบ้านหรือไม่ ขณะเดียวกันชาวบางกลอยอยากได้ประปาภูเขาซึ่งต้องต่อท่อราว 20 กิโลเมตร จากแหล่งน้ำเพราะชุมชนขาดแคลนน้ำ แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตโดยมีข้ออ้างว่าป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก จึงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ขณะที่รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ก็แค่มารับฟังปัญหาจากเจ้าหน้าที่แต่ไม่ได้ฟังปัญหาจากชาวบางกลอย
“เจ้าหน้าที่บอกว่ามีงบประมาณเป็นร้อยล้านมาแก้ปัญหา ถามว่าอยู่ตรงไหนเงินร้อยล้าน ที่ผ่านมาแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ จริงๆคุณต้องแก้ปัญหาหลัก ไม่ใช่หมกเม็ดไว้แล้วมามองว่าชาวบ้านมีแต่ปัญหา ก็เพราะคุณไม่แก้ไขปัญหา ทำให้ปัญหาหมักหมม พอผู้บริหารประเทศลงมาก็ไม่ได้ฟังชาวบ้าน ฟังจากเจ้าหน้าที่ซึ่งก็บอกว่าดีหมด ไปดูแค่ครึ่งเดียวแต่อีกครึ่งหนึ่งที่ชาวบ้านพร้อมบอก แต่ไม่ได้ฟัง อุทยานฯ เป็นคนอพยพชาวบ้านลงมา ทำไมไม่แก้ไขปัญหา ตรวจวัดที่ดิน ก็ทำแต่ที่เดิมๆ วัดไปวัดมา แทนที่จะวัดที่ใหม่ๆ บ้าง พอภาพออกมาบอกว่าแก้ไขปัญหาแล้ว ถ่ายภาพไปโชว์ หน่วยงานที่เข้ามาบอกว่าดูแล 2 หมู่บ้านนี้ดี พูดแต่ปากเพื่อให้ตัวเองดี แต่คนที่หาเช้ากินค่ำยังลำบาก” ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าว และว่าขณะที่มีการสร้างระบบโซลาเซลล์มูลค่า 37 ล้านโดยที่ชาวบ้านไม่ได้ขอ เมื่อพังชาวบ้านก็ซ่อมไม่เป็น แต่ที่อยากได้คือประปาภูเขา กลับไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมัครชิง นายกอบจ.เพชรบุรี คึกคัก ‘อดีตนายกอบจ.’ ชน ‘อดีตสส.เพชรบุรี’
วันแรกในการเปิดรับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม 2567
อัยการเลื่อนฟังคำสั่ง 2 เยาวชนบางกลอย ส่อโดนสั่งฟ้อง รัฐบาลแก้ปัญหาไม่คืบหน้า
ที่สำนักงานอัยการอัยการเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบุรี น.ส.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนพร้อมด้วยเยาวชนบบางกลอย 2 คน เข้าพบอัยการตามนัด
แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต
นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6
สปส.มอบสุข ตรวจเยี่ยมและติดตามคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนทุพพลภาพ จ. เพชรบุรี
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม นางรัศมี สุจโต ประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรี นางสาวสรันยา สุวรรณวัฒน์
'รองอธิบดีอุทยานฯ' นำทีมจับ 'ลัทธิประหลาด' ตั้ง 3 ข้อหา
'รองอธิบดีกรมอุทยานฯ' นำทีมจับ 'ลัทธิประหลาด' กะเหรี่ยงผมยาว บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ พบต่างด้าว 29 ราย คนไทย 1 คน
“ถ้ำเสือ” จากตำนานสู่การจัดการป่า สร้างฝายมีชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน อย่างยั่งยืน
มีตำนานเล่าขานของบ้านถ้ำเสือในอดีต สภาพบริเวณแถวนี้เป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ และยังมีสัตว์ป่าดุร้าย ช้างป่า ม้า เสือ