แฟ้มภาพ
โวยออกกฎหมายมา 10 ปีแต่คืนสัญชาติให้ไทยพลัดถิ่นยังยากเย็น เหตุขาดแคลนเจ้าหน้าที่-เครื่องมือ นักวิชาการแนะรัฐยกระดับความร่วมช่วยเหลือคนไทยติดแผ่นดินพม่า สนับสนุนการศึกษา ดำรงวิถีวัฒนธรรมไทย
16 พ.ค.2565 - นายบุญเสริม ประกอบปราณ ผู้ประสานงานเครือข่ายการปัญหาคนไทยพลัดถิ่น เปิดเผยว่าในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดพังงา ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ได้เตรียมจัดกิจกรรมเวที เล่าขานตำนานคน 20 ปีเครือข่าย 10 ปีกฎหมาย กับเส้นทางสู่ความเป็นพลเมืองไทย ณ โรงยิน อบจ.ระนอง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เพื่อให้สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทั้งระดับพื้นที่ นโยบายของเครือข่ายและปัญหาอุปสรรค
นายบุญเสริมกล่าวว่า เครือข่ายฯได้รวมตัวมาตั้งแต่ พ.ศ 2545 โดยมีมูลนิธิชุมชนไท และภาคีความร่วมมือ สนับสนุนให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ในจังหวัดระนองและประจวบคีรีขันธ์ ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง รวมทั้งหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน อาทิ การสำรวจข้อมูล การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาแกนนำเครือข่ายฯ รวมทั้งสื่อสารออกสู่สาธารณะ โดยในการดำเนินงานมีนักพัฒนาที่ลงพื้นที่เพื่อเสริมความเข้มแข็ง ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดซึ่งเมื่อปี 2552 ได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 แต่ติดค้างอยู่ในสภาฯ เป็นเวลานานนับปี กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจึงเดินรณรงค์สาธารณะ “ จากด่านสิงขรถึงรัฐสภา ” ใช้เวลา 14 วัน มีประชาชนสองข้างทางให้กำลังใจ รวมทั้งสื่อมวลชนเกือบทุกสำนักทำข่าวต่อเนื่อง จนกระทั่งได้กฏหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยฉบับนี้มาบังคับใช้ตั้งแต่ 2555
นายบุญเสริมกล่าวว่า ในปีนี้ครบรอบ 20 ปีเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย และครบรอบ 10 ปีพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 ผลของการประกาศใช้กฎหมายมีคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายนี้ ประมาณ 10,462 คน จากกลุ่มเป้าหมายที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการปกครองประมาณ 18,000 คน ทั่วประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังไม่มีความเข้าใจกฎหมายชัดเจน และมีปัญหาทัศนะคติและอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีคนไทยพลัดถิ่นที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.สัญชาติ เนื่องจาก เป็นกลุ่มตกสำรวจ กลุ่มพลัดหลงทางทะเบียน กลุ่มถูกจำหน่าย ฯ กลุ่มมุสลิมมะริด อีก ประมาณ 27,757 คน ความล่าช้าจึงส่งผล ต่อสิทธิและสุขภาวะ อย่างมาก
นายภควินทร์ แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นกล่าวว่า สาเหตุที่การคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ทำงานด้านนี้ มีจำนวนน้อย เครื่องมือต่างๆไม่พร้อมและไม่มีงบประมาณ ในส่วนของประชาชนเจ้าของปัญหายังมีความไม่เข้าใจต่อระเบียบปฎิบัติ เช่นเดียวกับผู้นำองค์การส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้านไม่เข้าใจประเด็นเรื่องคนไทยพลัดถิ่น ทำให้เกิดความล่าช้า ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มากเกินไป เช่น การไปยื่นคำขอ นายทะเบียนปฎิบัติไม่เหมือนกัน บางแห่งบอกว่าต้องมีหนังสือตรวจโรค บางแห่งบอกว่าต้องไปทำประวัติอาชญากรรม กลายเป็นภาระให้ชาวบ้าน
ที่ปรึกษาเครือข่ายคนพทยพลัดถิ่น กล่าวว่าเสนอให้หลายฝ่ายทำงานร่วมกัน และได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง กรมการปกครอง คณะนวตกรรมและนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิติมหาวิทยาลัยทักษิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มูลนิธิชุมชนไทและตัวแทนเครือข่าย โดยได้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการทำงาน แต่ปรากฏว่าบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรมการปกครองเหล่านี้กลับถูกปฎิเสธจากหน่วยงานราชการเสียเอง โดยอ้างว่าคนไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ทำให้กระบวนการการคืนสัญชาติยิ่งล่าช้าเพราะเขาไม่เชื่อในข้อมูลที่เก็บจากบุคลากรที่ผ่านการอบรมทำ เช่น ฝ่ายทะเบียนของอำเภอบางสะพานและอำเภอทับสะแก จ.ประจวบฯ ไม่ยอมรับข้อมูลเลย ขณะที่ฝ่ายทะเบียนในอำเมือง จ.ประจวบฯเอาด้วยทำให้แก้ปัญหาได้ 80-90%
“ทางออกในการเร่งคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น เราเสนอว่าการลงนามความร่วมมือยังใช้ได้ เพียงแต่การย้ายปลัดฝ่ายทะเบียนบ่อยครั้ง ทำให้เกิดปัญหาเพราะปลัดคนใหม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นควรมีการกำหนดกรอบเวลาในการทำงานร่วมกันให้จบ นอกจากนี้ตัวปลัดที่รับผิดชอบควรเข้าใจและอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่อง”นายภควินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการอพยพของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเข้ามาเพิ่มหรือไม่ นายภควินทร์กล่าวว่า มีบ้างแต่น้อยมาก เพราะก่อนหน้านี้อพยพมาเยอะมากแล้ว และคนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยผูกพันกับพื้นที่ ตนเห็นว่ารัฐควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาศึกษาเรื่องไทยพลัดถิ่นเพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาร่วมกัน เช่น ด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา ด้านพื้นที่ทางความเชื่อและวัด รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ
“เมื่อยอมรับว่าเขาเป็นคนไทย และมีการการแก้ไขกฏหมายเพื่อคืนสัญชาติให้พวกเขาแล้ว เราควรสนับสนุนให้เขาได้ดำรงวิถีชีวิตเช่นที่พวกเขาต้องการ แม้ดินแดนนั้นตกเป็นของพม่าแล้วก็ตาม เพราะอย่างไรเราก็เอาแผ่นดินกลับคืนไม่ได้ ถ้าใครจะกลับมาก็กลับแผ่นดินแม่ก็ขอให้กลับมาอย่างมีศักดิ์ศรี รัฐควรมีนโยบายพิเศษสำหรับคนกลุ่มนี้”ที่ปรึกษาเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กล่าว
ด้าน รศ.ดร.กาญจนา บุญส่ง หัวหน้าศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษาและดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จ.เพชรุบรี ร่วมกันให้สัมภาษณ์ว่า จากการลงพื้นที่หมู่บ้านคนไทยพลัดถิ่นในฝั่งพม่าโดยเฉพาะหมู่บ้านสิงขร พบว่าคนไทยกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่เหมือนชนบทในประเทศไทยเมื่อ 60 ปีก่อนคือมีความเป็นอยู่ที่พึ่งพาธรรมชาติ ขณะที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำมาหากินยังไม่ได้รับการพัฒนาทางกายภาพ ถนนในหมู่บ้านมีไม่ทั่วถึงและไม่มีไฟฟ้าใช้ และการเรียนการสอนภาษาไทยต้องอาศัยวัดในการถ่ายทอด ขณะนี้วัฒนธรรมประเพณีซึ่งมีลักษณะเดียวกับคนไทยในภาคใต้บางอย่างเลือนหายไป
นักวิชาการจากศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษากล่าวว่า ในด้านคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขอนามัยนั้น คนไทยพลัดถิ่นยังไม่มียารักษาโรคเหมือนในประเทศไทย และในพื้นที่ยังมียุงชุกชุมมาก โดยมีวัดไทยเป็นที่พึ่งซึ่งถือว่าเป็นสถาบันเดียวที่ยังอยู่และเป็นกำลังใจให้คนไทยพลัดถิ่นได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ขณะนี้สภาพวัดเริ่มร้างมากขึ้นเนื่องจากมีคนไทยบวชน้อยลง
รศ.ดร.กาญจนาและดร.เอื้อมพร กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้เข้าไปส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้คนไทยกลุ่มนี้โดยสนับสนุนหนังสือสำหรับการอ่านและการเขียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ได้สนับสนุนห้องสมุดรวมใจสำหรับการศึกษาหาความรู้
“เราคิดว่ารัฐบาลควรยกระดับให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูคนไทยกลุ่มนี้ในระดับนโยบาย ควรมีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและพม่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยพลัดถิ่น และรัฐไทยควรมีนโยบายเยียวยาคนไทยพลัดถิ่นที่เสียโอกาสมาอย่างยาวนานให้การรับโอกาสด้านการศึกษาในประเทศไทย”นักวิชาการจากศูนย์วิจัยสิงขร-มะริด กล่าว
อนึ่ง คนไทยพลัดถิ่น คือ กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตวมะริด ทวาย ตะนาวศรี ซึ่งเดิมเป็นเขตแดนไทย แต่เมื่อกว่า 100 ปีก่อนอังกฤษได้ทำการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าใหม่ ทำให้ดินแดนแถบนั้นกลายเป็นของพม่า แต่ชุมชนคนไทยจำนวนมากไม่ได้โยกย้ายกลับมาประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลพม่าก็ไม่ได้ยอมรับให้เป็นพลเมืองพม่า และออกบัตรระบุว่า “ เป็นคนไทย ” คนกลุ่มนี้ยังมีวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมและภาษาแบบคนไทยปักษ์ใต้ จนเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในช่วงระยะที่รัฐบาลพม่าทำสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจึงโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องในประเทศไทย บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และบางส่วนอาศัยในจังหวัดตาก แต่ทว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้การรับรองว่าเป็นคนไทย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิตามพลเมืองไทยและถูกเอารัดเอาเปรียบ จนกระทั่งได้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ 5 เพื่อเปิดช่องทางให้คนกลุ่มนี้ได้คืนสัญชาติไทย แต่จนถึงขณะนี้การทำงานของกรมการปกครองเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยคาดว่ามีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 28,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เพื่อไทย ปล่อยคลิปแจงให้สัญชาติใครได้ประโยชน์?'
พรรคเพื่อไทย โพสต์คลิปตอบประเด็นให้สัญชาติใครได้ประโยชน์?'
'ครูแดง' ชี้มติ ครม. ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ปฏิรูประบบสถานะบุคคลครั้งสำคัญ
"ครูแดง" ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้ "สมช.-มท." ออกกฎหมายเร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง
'บิ๊กอ้วน' วอนอย่าดราม่าให้สัญชาติไทย 4.8 แสนราย
'ภูมิธรรม' วอนอย่าดราม่า หลัง ครม.ให้สัญชาติผู้อพยพ 4.8 แสนคน ย้ำทุกอย่างมีกระบวนการ กม. หากมองทุกอย่างเป็นปัญหาจะห่อเหี่ยว
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศมหาดไทย เสียสัญชาติไทยจำนวน 52 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเสียสัญชาติไทย
ราชกิจจาฯ ประกาศเสียสัญชาติไทย 41 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเสียสัญชาติไทย
นักเขียนซีไรต์ ตอกเจ็บ! รัฐบาลอ้างมาจากประชาชน พอประชาชนค้านเรื่องเกาะกูดด่าว่าคลั่งชาติ
วิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความถึงรัฐบาลว่า ได้เป็นใหญ่เป็นโตมีอำนาจคับประเทศ บอกว่ามาจากป