ร้อง รมว.อว.-ประธานสภามหาวิทยาลัย มน.สอบนักวิชาการทำอีไอเอ 'ผันน้ำยวม'

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-อบต.-ชาวบ้านหลายพื้นที่ร่วมทำหนังสือร้อง รมว.อว.-ประธานสภามหาวิทยาลัย มน.สอบจริยธรรมกลุ่มนักวิชาการรับจ้างทำอีไอเอโครงการผันน้ำยวม ระบุข้อมูลคาดเคลื่อน-สร้างความเดือดร้อน-นัดกินข้าวร้านลาบยังถูกเอาไปอ้างในรายงาน

14 พ.ค.2565 - นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ซึ่งประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านที่ได้รับผลประทบ ได้ส่งหนังสือถึงประธานสภามหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.)และศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม(อว.)เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งใน มน. กรณีรับจ้างกรมชลประทานการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการสืบเนื่อง เพราะมีข้อมูลหลายส่วนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และมีการแอบอ้างชื่อและภาพชาวบ้านไว้ในงานวิจัยโดยไม่ขออนุญาตที่สำคัญคือมีการเบียงเบนข้อเท็จจริง

ทั้งนี้เนื้อหาของหนังสือดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) โดยได้ว่าจ้างนักวิชาการกลุ่มหนึ่งของ มน.จัดทำ อีไอเอจนแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2564 แม้ว่าจะมีการตั้งคำถามจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระหว่างการจัดทำรายงาน ในเวทีประชุม และหนังสือคัดค้านการทำการศึกษาดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นความถูกต้องของข้อมูล รูปภาพ และเนื้อหาที่ใช้ในรายงาน และกระบวนการจัดทำรายงานที่มีข้อครหาในวงกว้าง

1.จำนวนพื้นที่และจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีการระบุผู้ได้รับผลกระทบเหลือเพียง 29 ราย ทั้งที่โครงการจะกระทบระบบนิเวศและชุมชนชาวไทยอย่างน้อย 36 หมู่บ้าน และอีกหลายอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน

2. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ไม่ครบถ้วน ไม่มีการใช้ภาษาท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนที่เป็นชาติพันธุ์ในพื้นที่ (แม้จะมีการแปล แต่ก็แปลผิดภาษา เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่ง แต่แปลเป็นภาษากะเหรี่ยงสะกอ)

3.ใช้ข้อมูลผิดวัตถุประสงค์ เช่น มีการนัดมารับประทานอาหาร แต่จัดทำรายงานว่าเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #EIAร้านลาบ

4.รายงาน EIA ใช้รูปภาพและข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่สอดคล้องกับเนื้อหารายงาน เช่น รูปถ่ายการมอบหน้ากากอนามัย แต่เขียนว่าเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยชาวบ้านเล่าว่าชุดประสานงานเดินทางไปแจกเม็ดมะขามป้อมคลุกน้ำจิ้มให้ชาวบ้านเพื่อให้ทานยามว่าง เป็นต้น

ในหนังสือระบุว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งโครงการประกอบด้วยโครงสร้างต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำสาละวิน และพื้นที่ของอุโมงค์ส่งน้ำใน 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่ผ่านมาได้มีการดำเนินร้องเรียน ตามขั้นตอนของกฎหมาย และอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานหลายแห่ง อาทิ คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็แต่ยังปรากฎว่ามีการว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรให้ดำเนินโครงการสืบเนื่อง คือกรมชลประทานได้ว่าจ้าง มน.จัดทำโครงการเพิ่ม คือโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน

“พวกเรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน โดยเฉพาะสิทธิในที่ทำกิน ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นนิเวศน์บริการที่ชาวบ้านจะต้องใช้พึ่งพิง และส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินนับแสนล้านบาท และยังไม่รวมผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกมหาศาล ขอท่านได้โปรดตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ ในการคณะนักวิชาการที่ได้เข้าไปจัดทำรายงานการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการสืบเนื่อง ที่ทางเครือข่ายฯ และชาวบ้านได้พบเจอตามที่ได้กล่าวข้างต้น รวมถึงพิจารณาบทบาทของนักวิชาการจาก มน.ในกรณีโครงการผันน้ำยวม สมควรอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องดำเนินการตรวจสอบในทางด้านจริยธรรมและการวางตนในฐานะนักวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ ทั้งนี้ และทางเครือข่ายฯยินดีจะให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลอย่างเต็มที่” หนังสือระบุ

นายวันชัยกล่าวว่า หนังสือดังกล่าวเห็นชอบและลงนามโดยผู้นำชุมชน 9 ราย อาทิ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กำนันต.นาคอเรือ กำนัน ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

นายดวงจันทร์ ทองคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม สถานีสูบน้ำ และกองดินจากการขุดอุโมงค์ กล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านในเขตป่า 3 จังหวัด กำลังได้เจอปัญหาเดียวกัน ทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ขุดอุโมงค์ และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เราจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงหลายสิ่งอย่างมาก ทั้งกุ้งหอยปูปลา แม่น้ำ ป่าไม้ ที่ดินทำกินของเรา กรณีที่นักวิชาการ มน.รับทำการศึกษาโครงการนั้น ตนและผู้นำในพื้นที่ ต่างพบเจอสิ่งเดียวกัน คือ พบว่ามีมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัย นเรศวรมาพบเรา มายืนข้างเรา และถ่ายรูปเราไป

“ที่จริงการที่เขาถ่ายรูปผมควรต้องขออนุญาตก่อน ผมถามว่า มาจากที่ไหน อยู่หน่วยงานไหน แต่เขาบอกว่ามาจากกรมชลฯ เขาตอบว่าจบดอกเตอร์ แต่ธรรมชาติสอนให้ผมรู้ที่ต่ำที่สูง รู้ในสิ่งที่ผิดที่ถูก เราไม่ใช่คนไม่มีมารยาท บ้านป่าของเราก็มีการศึกษา เขาถามว่าถ้ามีคนมาเอาเงินเป็นล้านมาให้จะเอาไหม? ผมบอกไปว่าผมไม่เอาเงินล้าน ผมอยู่บ้านป่า ผมกินของดอย กินกุ้งหอยปูปลา ดีกว่าเงินล้านเดียว หากรับเอาไปปีเดียวก็หมด ล้านเดียวเดี๋ยวก็หมดเกลี้ยง เอาทรัพยากรธรรมชาติของเรากลับคืนมาดีกว่า พวกเรายืนยันว่าจะไม่โยกย้าย จะไม่หนี” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม

กลุ่มเยาวชนรักษ์โลก The Youth Fund ผนึก ทช.-เอสซีจี เปิดตัวโครงการใหม่ปกป้องทะเลไทย

กลุ่มเยาวชน The Youth Fund ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ Marine Saver Mission สานต่อโครงการ Nets up ตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมและความยั่งยืนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิสืบฯ ค้านเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในอุทยานฯทับลาน 2.6 แสนไร่

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ในฐานะประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรสืบ ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 2 แสนกว่า