ว่าที่นศ.วิศวะ วอนขอโอกาสเรียนหลังถูกตั้งท่าเพิกถอนบัตรปชช. คนไทยพลัดถิ่น

ว่าที่นักศึกษาวิศกรรมวอนขอโอกาสเรียนหลังถูกตั้งท่าเพิกถอนบัตรประชาชน เหตุพ่อแม่ครอบครัว "ปาทาน" ไทยพลัดถิ่นเมืองประจวบถูกเปลี่ยนแปลงลงรายการสัญชาติ ทีมนักกฎหมาย มธ.ทำจดหมายถึงกรมการปกครองแนะ 4 ข้อเสนอ

25 ต.ค.2564 - นายโชไอซ์ ปาทาน เยาวชนคนไทยพลัดถิ่น อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนและครอบครัวซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่และน้อง 3 คนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เนื่องจากน้องทั้ง 3 คนอาจถูกเพิกถอนสถานะสัญชาติไทย หลังจากได้รับการรับรองสัญชาติตามมาตรา 7 ทวิวรรค 2 คือให้รับรองสัญชาติกับลูกต่างด้าวที่อยู่มาไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยกรมการปกครองได้ส่งหนังสือมาที่จังหวัด และอำเภอได้ส่งมาถึงเทศบาล แล้วเทศบาลจึงส่งต่อมาที่พ่อแม่ของบุตรทั้งสาม เพื่อให้พ่อและแม่ไปอุทธรณ์การเปลี่ยนแปลงรายการลงสัญชาติจากคนถือบัตรเลข 0 ประเภทเกี่ยวข้องกับผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ไปเป็นคนถือบัตรเลข 0 ประเภทคนต่างด้าว ส่งผลให้น้องทั้ง 3 คนอาจต้องถูกเพิกถอนสถานะคนสัญชาติ เพราะหนังสือกรมการปกครองอ้างว่า การให้สัญชาติตามมาตร 7 ทวิวรรค 2 โดยไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีนั้น ให้กับลูกคนที่เป็น 1 ใน 19 กลุ่มตามนโยบายของรัฐบาล เท่านั้น  แต่หากเป็นบุตรของคนต่างด้าวจะได้รับการรับรองสัญชาติไทยเมื่อจบปริญญาตรี

“สำหรับตัวผมยังไม่ได้รับรองสัญชาติไทย เพราะตอนที่น้องๆได้ พวกเขาเป็นเด็ก ไม่ต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญกรรม แต่ผมโตแล้ว จึงต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญากรรม  น้องๆ จึงได้รับบัตรประชาชนไปในปี 2563 แต่มาใน 2564 ก็มีการแจ้งว่า เราต้องจบปริญญาตรีก่อน  จึงต้องดำเนินการใหม่ สำหรับผมที่จบปริญญาตรีแล้ว อำเภอก็จะให้ไปยื่นเรื่องใหม่ หลังตรวจสอบปริญญาบัตรแล้วว่าไม่ปลอม ผมรู้สึกเป็นห่วงน้องชายผมมาก เพราะเขาเรียนจบ ม.6 และสอบได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร หากเขาถูกถอนสถานะคนสัญชาติก็คงไม่ได้เรียนต่อเพราะครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอ และกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่ได้”นายโชไอซ์ กล่าว และว่า หนังสือแจ้งจากเทศบาลตำบลไร่เก่าบอกว่าพ่อและแม่ตนต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ มิเช่นนั้นก็จะถูกแก้ไขให้ไปอยู่กลุ่มอื่น

นายฮัมดา  ปาทาน อายุ 17 ปีน้องชายนายโชไอซ์กล่าวว่าได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครองเพื่อวิงวอนขอไม่ให้เพิกถอนสัญชาติไทย ซึ่งขณะนี้ตนเรียนจบ ม.6 และต้องการศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ แต่ต้องจ่ายค่าเทอม 2 หมื่นบาทโดยตั้งใจว่าจะกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่หากถูกเพิกถอนก็ไม่สามารถกู้ได้ เพราะพ่อแม่มีรายได้รวมกันเดือนละ 18,000 บาทและไม่มีเงินเหลือเก็บเพราะอยู่กัน 6 ชีวิตซึ่งพี่ชายก็เพิ่งเรียนจบและยังไม่มีงานทำ

“ผมรู้สึกเสียใจที่กำลังจะหมดโอกาสทางการศึกษา ผมมีความใผ่ฝันอยากเรียนสูงๆออกมาประกอบอาชีพสุจริตเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ อยากวิงวอนคุณลุงอธิบดีกรมการปกครองอย่าเพิ่งถอนสถานะทางทะเบียนของผมเลย”นายฮัมดา กล่าว

ด้านนายภควินท์ แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการเเก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง  พังงา กล่าวว่า ครอบครัวนายโชว์ไอ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยพ่อเข้าเมื่อปี 2529และแม่ปี 2537 ทางจังหวัดระนอง เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัด เมื่อปี 2549 โดยก่อนหน้านี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว ช่วงปี 2539-2540 จนปี 2552 ได้รับการถอนจากทะเบียนแรงงานต่างด้าว และสำรวจบุคคลตามยุทธศาสตร์ฯเมื่อปี 2554แต่เมื่อปลัดทะเบียนจังหวัดประจวบฯมีหนังสือขอความเห็นไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อกรณี พ่อและแม่ของโชไอซ์ เพื่อให้แก้ไขรายการประวัติทางทะเบียนกรณีการขึ้นทะเบียนสำรวจภายใต้ ยุทธศาสตร์ 18 มกรา 2548 ซึ่งจะส่งผลต่อตัวของน้องทั้ง 3 คน ที่จะขาดคุณสมบัติในการได้รับรองสัญชาติไทยจนกว่าจะจบปริญญาตรี จึงส่งผลให้ต้องเพิกถอนสถานะสัญชาติ และให้การรับรองอีกครั้งเมื่อจบปริญญาตรี  บุตรทั้งสามคนจึงจะกลับเป็นเด็กไร้สัญชาติอีกครั้ง หากพ่อแม่ถูกบันทึกในสถานะคนต่างด้าวอื่น ซึ่งเด็กที่จะเดือดร้อนมากที่สุด ก็คือนายฮัมดา

นายภควินท์กล่าวว่า เอกสารประกอบการประชุม การพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 ของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ระบุว่านโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานะของชนกลุ่มน้อย โดยนโยบายที่มีต่อชนกลุ่มน้อยเป็นรายกลุ่ม คือ1.ประเภทกำหนดสถานภาพให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร มี 14 กลุ่มย่อย และ2.ประเภทที่ทางราชการมีนโยบายกำหนดสถานภาพให้อยู่อาศัยในประเทศไทยลักษณะชั่วคราว มี 2 กลุ่มคือมติ ครม.ผ่อนผันให้อาศัยในประเทศไทยชั่วคราวอย่างเป็นทางการ มี 3 กลุ่มและ ผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราวแต่ไม่เป็นทางการ มี 2 กลุ่ม และยังมีนโยบายการแก้ปัญหาสถานะบุคคลในภาพรวมยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ทั้งหมดได้กำหนดกรอบไว้หมดแล้ว ทำไมถึงจะเอาครอบครัวปาทานไปไว้ที่ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

“การไม่ทำตามนโยบาย หรือการจะปฏิเสธนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้องและก้าวหน้า โดยการติดยึดติดอยู่กับกลุ่มคนโดยละเลยข้อเท็จจริงของการอาศัยในประเทศไทยมานาน โดยการให้แก้ไขรายการประวัติทางทะเบียนของ พ่อ-แม่ ครอบครัวปาทาน จึงไม่น่าจะสอดคล้องต่อนโยบายการแก้ปัญหาสถานะบุคคลเพื่อขจัดความไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ ของเด็กที่มีพ่อ-แม่เป็นคนต่างด้าว อาศัยในประเทศไทยนานเกิน 15 ปี โดยที่เด็กเกิดในประเทศไทยมีสูติบัตรเรียบร้อย การจะเอาพ่อ-แม่ ครอบครัว ปาทานของโชไอซ์ ไปอยู่ ชนกลุ่มน้อยอื่น จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จริงและรัฐก็จะสูญเสียโอกาสในการมีบุคลากรคุณภาพ”นายภัควินท์ กล่าว

ขณะที่บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รองศาตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง และเครือข่ายไทยพลัดถิ่น โดยมีข้อเสนอ 1.ขอให้อธิบดีกรมการปกครองดูแลให้บุตรผู้เยาว์ของนายอีรีและนางคันตีซา ปาทาน(พ่อและแม่นายโชว์ไอ) ยังคงมีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย ไม่ว่าจะมีการแก้ไขรายการสถานะบุคคลของบุพการีให้แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ โดยการใช้ “คำร้องขอให้พิจารณาความจำเป็นที่จะต้องมีสัญชาติไทย” 2.ขอให้อธิบดีกรมการปกครองดูแลให้บุตรเยาวชน ของนายอีรีและนางคันตีซา กล่าวคือ นายโชว์ไอได้ยื่นคำขอรับรองสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2559

3.ขออธิบดีกรมการปกครองหารือไปยังสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด เพื่อชะลอการบังคับใช้หรือเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน

4.ขอให้นายภควินท์ แสงคง และสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด ร่วมกันดูแลให้นายอีรีและนางคันตีซาให้ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลตามกฎหมายอย่างถูกต้อ

ขณะที่นางสุนี ไชยรส อาจารย์คณะนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าความหวังความฝันของพี่น้องคนไทยพลัดถิ่น ที่ติดไปกับแผ่นดินที่เคยเป็นของประเทศไทยในอดีต  แต่มีการตกลงในประวัติศาสตร์ให้เป็นของประเทศเมียนมาร์ และได้อพยพกลับมาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน ลูกหลานเกิดในแผ่นดินไทย ก็คือขอให้ได้มีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร  เพื่อมีสิทธิมีส่วนร่วมในการเป็นคนไทยที่พวกเขาถือมั่นมาโดยตลอด จนมีการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับ แก้ไข พ.ศ.2555 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วันนี้ครอบครัวของน้องไอซ์-โชไอซ์ ปาทาน ลูกศิษย์ของเรากำลังประสบปัญหาที่จะร้ายแรงยิ่งสำหรับชีวิตของน้องๆ 3 คน ที่ได้รับสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร  ทั้ง 4 คนเกิดในแผ่นดินไทยซึ่งย่อมได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา  ทวิ วรรค 2  แต่มีประเด็นที่กรมการปกครองจะปรับปรุงการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติในทะเบียนราษฎรของพ่อแม่เด็กทั้ง 4 คน

"น้องไอซ์ เป็นลูกหลานคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับทุนจาก ม.รังสิต จบวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่กระตือรือร้น เป็นอดีตนายกสโมสรนักศึกษานวัตกรรมสังคม และได้รับคัดเลือกจาก ม.รังสิตเป็นคนดีศรีรังสิต เมื่อปี 2562 เขาช่วยงานพี่น้องไทยพลัดถิ่น ที่ม.รังสิต ทำMOU กับกรมการปกครองตั้งแต่ปี 2558 แม้เขาจะยังไม่ได้สถานะสัญชาติไทยก็ตาม และรอความหวังที่จบปริญญาตรีตอนนี้ จะได้สถานะสัญชาติไทยสักที ขอสังคมช่วยกันพิทักษ์สิทธิของครับครัวนี้”นางสุนี กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อัจฉริยะ' ร้อง ปปป. สอบ 'ทนายษิทรา' ปมแฉบิ๊กรัฐวิสาหกิจ

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.)

ที่ปรึกษาของนายกฯ เผยโลกยกย่องรัฐบาลอิ๊งค์ กรณีให้สัญชาติไทยกว่า 4 แสนคน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มติครม.ที่เห็นชอบหลักการ หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ

'ครูแดง' ชี้มติ ครม. ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ปฏิรูประบบสถานะบุคคลครั้งสำคัญ

"ครูแดง" ชี้มติ ครม.ลดขั้นตอนให้สัญชาติ 4.8 แสนคน ถือว่าปฎิรูประบบพัฒนาสถานะบุคคล จี้ "สมช.-มท." ออกกฎหมายเร่งช่วยคนเฒ่าไร้สัญชาตินับแสนคนที่กำลังเปราะบาง