ชาวบ้านคว่ำบาตร เวทีรับฟังผันน้ำ 'โขง-เลย-ชี-มูล' เตรียมสรุปบทเรียน 32 ปีล้มเหลวจัดการน้ำ

ชาวบ้านคว่ำบาตรเวทีรับฟังโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลทำบรรยากาศเงียบเหงา เครือข่ายอีสานเตรียมสรุปบทเรียน 32 ปีแห่งความล้มเหลวการบริหารจัดการน้ำ

26 มี.ค.2565 - เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอสุวรรณคูหา ตัวแทนชาวบ้านสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ประมาณ 50 คนได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายจรูญ วิริยะสังวร นายอำเภอสุวรรณคูหา เพื่อยื่นหนังสือและแจกแถลงการณ์คัดค้านโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล โดยเขียนป้ายคัดค้านพร้อมทั้งผลัดกันขึ้นอภิปราย โดยนายจรูญได้ออกมารับหนังสือด้วยตัวเองและบอกว่าชาวบ้านสามารถแสดงออกไปได้เต็มที่และจะส่งเรื่องให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.)ต่อไป

ทั้งนี้สนทช.ได้จ้าง บริษัทครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมกับ บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำ โขงเลยชีมูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย ถึงเขื่อนอุบลรัตน์ โดยการจัดรับฟังความคิดเห็น(เพิ่มเติม) ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือเชิญให้ประชาชนในพื้นที่เข้ารับฟังการชี้แจง วัตถุประสงค์โครงการและข้อเสนอแนะเพื่อนำมปรับปรุงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียโครงการฯ

นางหนูเรือน เจริญชัย อายุ 63 ปี ชาวบ้านวังหินซา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา กล่าวว่า ตนได้รับจดหมายเชิญและมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ตาม ให้มาร่วมเวทีเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาตนไม่ไม้รับทราบข้อมูลในด้านผลกระทบเลย โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ครอบครัวมีที่ดิน สปก.4-01 เป็นมรดกจากพ่อแม่ ทั้งหมด กว่า 40 ไร่ และเท่าที่ทราบมาที่ดินจะมีแนวท่อส่งน้ำผ่านจะทำให้สูญเสียที่ดินกว่า 30 ไร่ และที่บ้านมีลูกหลาน รวมแล้วกว่า 30 คน ถ้าสูญเสียที่ดินแล้วเราจะไปอยู่ไหน สภาพที่ดินทำนา และไร่อ้อย ดังนั้นการมาวันนี้จึงมาค้านโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล เพราะไม่อยากได้และเราเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

นางนอม ฤาชัย อายุ 77 ปี บ้านเซียงฮาย ต.กุดผึ้ง อ.สุวรรณคูหา กล่าวว่าที่ดินมีทั้งหมด 32 ไร่ ทำนาและไร่อ้อย จะสูญเสียที่ดินทั้งหมด 32 ไร่ จากโครงการนี้ ที่ดินเป็นมูนมัง มรดกที่พ่อแม่ยกให้ และครอบครองที่ดินแปลงนี้เป็นร้อยปี ถ้าทำโครงการนี้แล้วไม่รู้จะไปอยู่ไหน และอายุมากแล้ว รู้สึกตกใจมากและยังทำใจไม่ได้จึงชวนลูกหลานลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินแปลงนี้

ด้านนายหนูหลั่น หาญไชย ตัวแทน คณะกรรมการชาวบ้านศึกษาและติดตามผลกระทบโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล อ.สุวรรณคูหา กล่าวว่าวันนี้มีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากแนวคลองโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล กว่า 50 คน 3 ตำบล คือ ต.ดงมะไฟ ต.นาสี ต.กุดผึ้ง อ.สุวรรณคูหา มายื่นหนังสือกับนายอำเภอสุวรรณคูหา และตัวแทนบริษัทรับจ้างทำอีไอเอ ให้กับ สทนช.ซึ่งมีลายมือชื่อกว่า 817 ราย เพื่อเป็นหลักฐานผู้ที่คัดค้านโครงการนี้

“เราจะชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภูต่อไป เพื่อโครงการนี้ เราเสนอว่าควรมีการเปิดเวทีให้ข้อมูลชาวบ้านซักถามผลกระทบและการที่ชาวบ้านจะสูญเสียที่ดินที่มีความเป็นอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำ EIA เหมือนในวันนี้ เรายืนยันว่าจะคัดค้านให้ถึงที่สุด”นายหนูหลั่น กล่าว

นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานกล่าวว่า หลังจากทำหนังสือคัดค้านโครงการเมื่อ 3 เดือนก่อน บริษัทที่จัดทำอีไอเอได้รับคำสั่งให้มารับฟังชาวบ้านเพิ่มเติม แต่ชาวบ้านยืนยันไม่เข้ากระบวนการเพราะบริษัทไม่สามารถตอบคำถามได้ ดังนั้นบรรยากาศในการจัดเวทีวันนี้จึงเป็นไปด้วยความเงียบเหงาเพราะไม่มีชาวบ้านเข้าร่วม

นายสุวิทย์กล่าวว่า มาถึงวันนี้จริงๆแล้วภาครัฐควรกลับมาพูดเพื่อให้ข้อมูลชาวบ้านให้มากสุดและพับการจัดทำอีไอเอไว้ก่อน เพื่อให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดปรากฏเพราะข้อมูลมีความสำคัญในการทำให้ชาวบ้านตัดสินใจ แต่ที่ผ่านมาบริษัทพยายามพูดว่าเป็นที่ดินส่วนใหญ่เป็นของสำนักงานปฎิรูปที่ดิน(สปก.)ภาครัฐจะยึดคืนอย่างไรก็ได้ซึ่งเป็นการพูดที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน ขณะที่สนทช.กับกรมชลประทานเองก็แทบไม่ได้เคยลงมาทำงานกับชาวบ้านจริงจังเลยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบริษัททั้งหมด

“ในเดือนเมษายนนี้เรายื่นหนังสือจังหวัดเพื่อทำหนังสือถึงกรมชลประทานกับสทนช. นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคมเราจะจัดเวทีสรุปบทเรียนโขงชีมูล 32 ปี เราอยากชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวกระบวนการบริหารจัดการน้ำของรัฐ เช่น กรณีฝายหัวนาที่ใช้ระบบท่อและต้องเอาเงินไปจ่ายมากกว่ามูลค่าของโครงการแล้ว ขณะที่ที่เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มไปทั่ว”นายสุวิทย์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ยื่นจดหมายถึงนายกฯ หวั่นผลกระทบเขื่อนปากแบง

นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายกฯ รับฟังปัญหาชลประทาน ที่ดินทำกิน อ.เชียงแสน ชาวบ้านขอผ่อนปรนคนจีนข้ามแดน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค และพบปะประชาชน ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง

ยึดรายวันยาบ้าริมโขง ทหารพรานสกัดได้กว่า 2 แสนเม็ด

ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2101 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (ร้อย ทพ.2101 ฉก.21 กกล.ฯ) บ้านปากห้วยม่วง ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.อินทราวุธ ทองคำ ผบ.กรม ทพ.21/ผบ.ฉก.ทพ.21 ร.ท.วันชาติ

เหิมเกริม! แก๊งค้ากัญชาข้ามชาติ ยกพวกกว่า 30 คน รุมทำร้าย นรข.นครพนม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ สภ.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม จ่าเอกปรเมษฐ์ ปุราชะโน อายุ 27 ปี หรือต๋อง พร้อมบัดดี้คือ จ่าเอก วรพิทูร เดชาเสถียร อายุ 30 ปี หรือเชฟ ได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ต.ปุญวัตน์ สุริยกุล ณ อยุธยา สว.สอบสวน สภ.บ้านแพง