เรียนรู้ชีวิตจริงบนดอยสูง ของนักเรียนทุน กสศ.

“....ก้าวไปอย่าถอย หากล้มจงลุกขึ้นสู้ใหม่ รู้ว่าเธอเหนื่อยเพียงไหน เราคือกำลังใจ ก้าวเดินไปพร้อมกัน เส้นทางฝันนั้นยังยาวไกล ก้าวต่อไปไม่ท้อ ไม่บ่น ขอเพียงเธอยืนหยัดและอดทน บนเส้นทางที่ตั้งใจ” หลายคนถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อบรรยากาศในช่วงท้ายของการอบรมเป็นไปอย่างซาบซึ่ง เนื้อเพลง “เติมฝัน” ที่ดังในช่วงปิดท้าย ได้เพิ่มความอบอวลให้กับมิตรภาพ แม้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ ที่ได้มาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน แต่มีคำสัญญามากมายที่ออกจากใจของเยาวชนกลุ่มนี้

ระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2565 นักเรียนชั้น ปวส.2 กว่า 45 คน จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเสริมประสบการณ์นักเรียนทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บนศูนย์การเรียนรู้บนดอยแม่สลอง จ.เชียงราย ซึ่งจัดโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)

กิจกรรมนอกห้องเรียนครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งที่ “มากกว่า” การเรียนรั้วในสถาบันการศึกษา และเพิ่มพูนทักษะในชีวิตจริง โดยเยาวชนกลุ่มนี้เป็นนักศึกษาปีสุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำงานหรือเรียนต่อ

การจัดกิจกรรมเป็นไปอย่างระมัดระวังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งต้องมีการตรวจ ATK ตั้งแต่ก่อนและเมื่อเดินทางมาถึง โดยเคร่งครัดในเรื่องต่างๆ ตามข้อกำหนด

“ผมได้รู้จักเพื่อนๆ กลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มขึ้น ได้เพื่อนใหม่อีกหลายคน ได้เรียนรู้อาหารชนเผ่าและศิลปวัฒนธรรม เป็นประสบการณ์ที่ผมหาไม่ได้ในห้องเรียน“ โอเว่น-ธนากร เพ็งบ้านไร่ วัย 20 ปี หนุ่มอารมณ์ดีจากอุตรดิตถ์ เล่าถึงช่วงเวลาอันสนุกสนาน

โอเว่นกำลังจะจบจากคณะเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เขาและเพื่อนๆ 25 คนใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมงนั่งรถตู้ เดินทางจากจังหวัดสุโขทัยมายังดอยแม่สลอง

หลังจากเรียนจบ ม.6 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โอเว่นได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)เรียนต่อที่วิทยาลัยแห่งนี้ ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ดีนัก หากไม่ได้ทุนสนับสนุนเขาคงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ

“ผมชอบช่วยงานของหมู่บ้าน บ้านไหนมีงานบวช หรืองานศพ ผมมักไปช่วยงาน ผมมักคลุกคลีอยู่กับคนแก่ ให้ท่านเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง ผมชอบเรียนรู้เรื่องเก่าๆจากผู้เฒ่า มีโอกาสผมก็ไปนั่งดูเขาทอผ้า” หมู่บ้านของโอเว่นมีเชื้อสายไทยยวน ทำให้มีเอกลักษณ์เรื่องผ้าทอ เขาจึงเริ่มหัดทอผ้าและปักลวดลายโดยมี “ย่าเล็ก”คอยฝึกฝนให้

“พอทำแล้วมีความสุข ผมได้ฝึกสมาธิเพราะต้องใจเย็นๆ ถ้าไม่ชอบผมคงไม่ทำ”เขาให้เหตุผลสั้นๆในความมุ่งมั่น แม้เป็นเรื่องไม่ชินตากับภาพเด็กผู้ชายนั่งทอผ้า แต่เขาไม่สนใจและมุ่งมั่นเรียนรู้ลวดลายต่างๆจากย่าเล็กและผู้เฒ่าผู้แก่ จนเขาสามารถอธิบายศิลปะของชาวไทยยวนแขนงนี้ได้อย่างลุ่มลึก

โอเว่นปันเงินบางส่วนที่ได้รับจากทุน กสศ.ในแต่ละเดือนนำไปซื้อ “กี่ทอผ้า” และอุปกรณ์อื่นๆ เริ่มลงมือปักย่ามขาย แม้ยังได้ราคาไม่สูงเพราะไม่ใช่ลายสลับซับซ้อน แต่ก็ทำให้เขามีรายได้และเห็นช่องทางในการทำมาหากิน

“ผมยังทำลวดลายไม่เก่งนัก กำลังฝึกฝนอยู่” เขามุ่งมั่นที่เดินหน้าต่อไป แม้เป็นแค่เพียงงานอดิเรกของชีวิตและเขายังต้องเรียนต่อหลังจบ ปวส.ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา

“อนาคตผมคงหางานหลักทำ อาจเป็นลูกจ้างที่ไหนสักแห่งเพื่อหารายได้หลักเลี้ยงครอบครัว แต่งานทอผ้าก็จะไม่ทิ้ง เพราะเป็นงานที่ผมชอบ”

ตลอดเวลา 2 คือ 3 วัน ในกิจกรรม ที่ พชภ.จัดขึ้น โอเว่น ได้เรียนรู้เรื่องอาหารชาติพันธุ์ เรื่องอาชีพการปลูกกาแฟของชาวอาข่า และการสำรวจป่าซึ่งเป็นป่าที่ชุมชนร่วมกันฟื้นฟูขึ้นมาเมื่อกว่า 25 ปีก่อนโดยชาวบ้านหลากหลายชาติพันธุ์และ พชภ. จนทำให้วันนี้กลายเป็นป่าใหญ่และเป็นแหล่งอาหารและป่าต้นน้ำที่สำคัญบนดอยแม่สลอง

“ผมชอบกิจกรรมลักษณะนี้ครับ ชอบปฎิบัติจริง” ความรู้สึกของโอเว่นไม่แตกต่างจาก “เจน” ชลนิชา งามตา วัย 19 ปี นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ที่ได้มาร่วมกิจกรรมบนดอยแม่สลองเป็นครั้งที่ 2

เจนเป็นชาวแม่อาย จ.เชียงใหม่ อาศัยอยู่กับตายาย เมื่อจบ.ม.6 เธอไม่คิดว่าจะเรียนต่อ แต่โชคดีที่มีผู้แนะนำให้ขอทุนจาก กสศ. เธอจึงได้มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย

“มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนเพราะได้เจอเพื่อนๆ ต่างสถาบัน ครั้งก่อนมีแต่เพื่อนที่มหาวิทยาลัย ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น แต่ละคนน่ารักและเป็นกันเอง” เจนเล่าถึงความรู้สึกในการร่วมกิจกรรมก่อนที่เธอจะจบการศึกษา

“ที่ประทับใจมากที่สุดคือได้เรียนรู้เรื่องชา-กาแฟ เพราะนอกจากได้เห็นที่มาตั้งแต่เป็นเมล็ดกาแฟแล้ว ยังได้รู้จักกรรมวิธีดั้งเดิมของชาวบ้านที่คั่วชา” เจนซึ่งเรียนเอกด้านการท่องเที่ยวบอกว่าประสบการณ์ที่ได้รับจะนำไปปรับใช้กับการวางแผนในอนาคต

“เป็นการเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก ได้รู้จักแง่มุมต่างๆของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายดีขึ้น จริงๆ หนูก็มีเพื่อนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อยู่แล้วที่มหาวิทยาลัย พวกเขาต่างมีน้ำใจ การที่ได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่าเพิ่มขึ้น ทำให้เราได้เข้าใจพวกเขามากขึ้น”

เสียงเพลงเติมฝันจบลง นักศึกษาทั้งสองสถาบันต่างร่ำลาและอาลัยอาวรณ์กัน บางส่วนจับกลุ่มกันถ่ายภาพ แม้ประสบการณ์บนดอยแม่สลองเป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น แต่อนาคตในมิตรภาพและเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองของพวกเขาอีกยาวไกล

การเรียนรู้ชีวิตจริงเป็นเรื่องสำคัญมาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น 3 อำเภอริมโขงเชียงราย แสดงพลังค้านเขื่อนปากแบง

ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน ผู้นำสตรี และผู้นำท้องถิ่น อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกเทศมนตรี ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน