‘วิรุฬห์’ อธ.อัยการคดีพิเศษ เตรียมยื่นศาลขอริบทรัพย์อดีตผู้บริหาร STARK อีก 3 พันล้านบาท เยียวยาผู้เสียหาย ‘อัยการ-ศาล-ปปง.’ จับมือเชื่อมโยงข้อมูลคดีฟอกเงิน เพิ่มประสิทธิภาพทำงาน
29 เม.ย. 2567 – นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในสำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) ตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รายคดีนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK กับพวก (คดีฉ้อโกงประชาชนหุ้น Stark) ว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เคยส่งสำนวนคดีหุ้นสตาร์ค มาให้กับทางสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 16 รายการ มูลค่า 355 ล้านบาท
ในความผิดที่เป็นมูลฐานเกี่ยวกับคดีที่เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกง หรือการกระทำโดยทุจริตตามกฏหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยพฤติกรรมเกี่ยวกับการแต่งบัญชีหรืองบการเงินอันเป็นเท็จ ให้มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงเป็นจำนวนมากจนกระทั่งประชาชนหลงเชื่อเข้ามาลงทุนในเบื้องต้นได้รับค่าตอบแทนสูงตามที่โฆษณาชวนเชื่อจริง แต่พอมีผู้ลงทุนเข้ามามากก็ไม่สามารถที่จะได้รับค่าตอบแทนอย่างที่กล่าวอ้างได้เนื่องจากไม่มีผลกำไรอย่างที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้ชวน
ซึ่งในคดีที่ได้ส่งมาในครั้งแรก ทางพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในมูลฐานดังกล่าวตกเป็นของเเผ่นดินไปแล้วคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งตามคดีหมายเลขตามที่ฟ.14/2567 ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ขอยึดอายัดไว้ชั่วคราวและขอให้ริบตกเป็นของแผ่นดินในครั้งนั้น มีจำนวน 16 รายการ มูลค่า 355 ล้านบาท ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษเราโดยตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ เเละให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและดำเนินคดีในชั้นศาล
จนล่าสุดวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน ปปง. ก็ได้ส่งเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ ในคดีเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาให้กับทางสำนักงานคดีพิเศษ เนื่องจากว่าสามารถตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในมูลฐานเดียวกันในพฤติการณ์เดียวกันเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก และคณะกรรมการธุรกรรมของทางสำนักงาน ปปง. มีการสั่งให้ยึดอายัดไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 รวมจำนวนทั้งหมด 14 รายการ เป็นเงิน 2,890 ล้านบาท เมื่อรวมทรัพย์สินในคดีเดิมและที่ส่งมาเพิ่มเติมแล้วทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,245 ล้านบาท เเต่ในความเป็นจริงค่าเสียหายที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงจากความผิดมูลฐานดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท
“ผมในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษจึงได้มีคำสั่งให้ส่งเรื่องเพิ่มเติมพร้อมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการคณะทำงานชุดเดิม เพื่อพิจารณาพิจารณาเกี่ยวกับการยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ไว้ชั่วคราวตกเป็นของแผ่นดินภายในระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ที่มีคำสั่งหยุดอายัดไว้ชั่วคราวตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษเราจะต้องพิจารณาและยื่นคำร้องให้ทันภายในวันที่ 12 พ.ค. 2567” นายวิรุฬห์ ระบุ
ส่วนจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของผู้เสียหายที่มีโอกาสได้ทรัพย์สินคืนหรือไม่นั้น เรียนว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาให้ผู้เสียหายใช้สิทธิ์ขอคืนจำนวนเงินความเสียหายที่ได้รับผ่านทางสำนักงาน ปปง. ได้ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่มีการยึดอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว ซึ่งทางสำนักงาน ปปง. จะพิจารณาว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเท่าไหร่ และขอให้ทางพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคืนให้กับผู้เสียหาย ตามอัตราส่วนที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้รับตามจำนวนความเสียหายของตนเอง ซึ่งในช่องทางนี้จะต้องยื่นภายใน 90 วัน ตามที่บอก แต่ถ้าพ้นระยะยื่นไม่ทันที่สำนักงาน ปปง. ผู้เสียหายสามารถยื่นผ่านทางศาลได้โดยตรง ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถยื่นขอศาล เมื่อศาลมีคำสั่งอย่างไรแล้วถ้าหากศาลมีคำสั่งให้มีการคืนให้กับผู้เสียหายรายใดเป็นจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อคดีเสร็จสิ้นทางสำนักงาน ปปง. ก็จะคืนให้ตามอัตราส่วนของความเสียหายที่แต่ละคนได้รับหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วก็จะได้รับคืนค่าเสียหาย
ในกรณีที่ยึดอายัดทรัพย์สินได้ไม่เต็มจำนวนของความเสียหายต้องเฉลี่ยกันไปตามอัตรา ซึ่งพนักงานอัยการได้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาล ไม่ว่าจะขอให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือให้คืนให้กับผู้เสียหาย ตามที่ได้ขอคุ้มครองสิทธิ์ผ่านทางสำนักงาน ปปง. โดยรวดเร็ว
สำหรับคดีนี้เนื่องจากค่าเสียหายที่ถูกฉ้อโกงหรือกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 14,000 ล้านบาทแต่ทรัพย์สินที่อายัดชั่วคราวได้จากผู้ถูกกล่าวหาที่ทำความผิดมูลฐานมีจำนวนทั้งสิ้นในสองคดีของ ปปง. และอัยการมีจำนวน 3,000 กว่าล้านบาท ยังขาดอยู่อีก 10,000 ล้านบาทเศษ ถ้าสมมติว่าทางสำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมอีก จะสามารถที่จะดำเนินการเช่นเดียวกับในครั้งล่าสุดที่ส่งเอกสารเพิ่มเติมมา เพื่อขอให้ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้อีก
ในส่วนคดีอาญาหุ้น Stark ตอนนี้พนักงานอัยการคดีพิเศษยื่นคำฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลไปแล้ว โดยมีนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย. 2567 หลังจากนั้นทางศาลและคู่ความจะนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไปซึ่งทั้งในคดีอาญาและคดีฟอกเงินที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์หรือขอคืนให้กับผู้เสียหาย จะแยกพิจารณาออกจากกันในแต่ละส่วนในคดีของอาญาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน
อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าความร่วมมือเรื่องฟอกเงินว่า สำนักงานอัยการคดีพิเศษได้ทำความร่วมมือประสานงานกันระหว่างศาลแพ่งและทางสำนักงาน ปปง. ซึ่งผู้บริหารแต่ละหน่วยงานได้เข้าประชุมกัน เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการใหม่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานทางอิเล็กทรอนิกส์คล้ายๆ กับระบบซีออส (CIOS) ที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำอยู่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ในเรื่องความรวดเร็วความประหยัดในการดำเนินคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วย เนื่องจากว่าคดีฟอกเงินกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคมเป็นจำนวนมาก จึงต้องให้มีการดำเนินคดีตามวิวัฒนาการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ซึ่งจะมีตัวอย่างเช่นว่าสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในการยื่นคำร้องต่อศาลโดยอัยการขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เกิดเกิดจากการกระทำความผิดตกเป็นแผ่นดิน
การยื่นคำร้องขอทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหลังจากมีการไต่สวนสืบพยานกันในชั้นศาล จนกระทั่งศาลได้มีคำสั่ง กระบวนการเหล่านี้สามารถทำผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือการเชื่อมโยงข้อมูลคล้ายๆ กับระบบของศาลCIOS แทนที่เราจะใช้เอกสารส่งในชั้นศาล เราก็จะใช้ส่งเอกสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการประหยัดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสารเป็นจำนวนมาก แล้วทางคู่ความไม่จำเป็นต้องเดินทางที่ศาลทำให้เกิดความรวดเร็วและทำให้คดีที่ค้างอยู่น้อยลงแทบจะไม่มีคดีที่ค้างโดยไม่จำเป็นอีก อันนี้ก็เป็นระบบที่คล้ายๆ กับบางคดีที่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้ใช้ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางฐานข้อมูลระหว่างเชื่อมโยงกันก็คือ API ระหว่างสามหน่วยงาน
ส่วนจะเริ่มใช้จริงได้เมื่อไหร่นั้น จากที่เราได้ประชุมร่วมกันวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ก็ประสานงานความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานซึ่งในเบื้องต้นหลังจากประชุมครั้งแรก และชั้นต่อไปแต่ละหน่วยงานก็จะจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กขึ้นเพื่อประสานงานกันประชุมกันเพื่อหาข้อเสนอแนะหรือปัญหาอุปสรรคต่างๆเข้ามาศึกษากันพอหลังจากทุกอย่างไฟนอลแล้ว มีการตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานแล้วทางสำนักงานคดีพิเศษของเราจะมีการจัดให้มีการประชุมกันและก็ถ่ายทอดหารือกันเกี่ยวกับระบบนี้ระหว่างพนักงานอัยการทั้งหมดในสำนักงานคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่ด้วยเพื่อรองรับการใช้ระบบใหม่ดังกล่าวซึ่งต่อไปก็อาจจะมีการจัดสัมนาระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับระบบนี้ต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
DSI หอบสำนวน 161 ลัง ส่งอัยการฟ้อง 'ดิไอคอน-18 บอส' 5 ข้อหาหนัก
พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
'นิพิฏฐ์' โชว์ประสบการณ์ทนาย ศาลยกฟ้อง เหตุไม่มีอำนาจพิจารณา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง และทนายความ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เขตอำนาจศาลในคดีอาญา
อัยการยื่นฟ้อง 'เชน ธนา' คดีร่วมกันฉ้อโกงไทยยินตันเเล้ว
ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง4 (พระนครใต้) พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง นัดฟังคำสั่ง
ก.ต.แต่งตั้ง 21 อรหันต์ เป็น อ.ก.ต. ทุกชั้นศาลชุดใหม่ กลั่นกรองโทษวินัยศาล
ที่อาคารศาลยุติธรรม ถนนราชดำเนินใน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกานั่งเ
เตือนอย่าเชื่ออย่าแชร์ข่าวปลอมให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงออนไลน์ลงทะเบียนขอรับเงินคืน
รัฐบาลเตือน ปชช. อย่าเชื่อข่าวปลอม อย่าแชร์! ข้อความสื่อออนไลน์ระบุ 'ปปง. ร่วมกับ สอท. เปิดให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงออนไลน์ลงทะเบียนขอรับเงินคืน เพียง 3 ขั้นตอน ผ่านเพจ Maintain security online'
นั่งไม่ติด! เรียกสอบกราวรูด 14 อัยการนครสวรรค์
อธิบดีอัยการภาค 6 นั่งไม่ติด เรียกสอบข้อเท็จจริง 14 พนักงานอัยการนครสวรรค์เข้าชี้แจง สำนวนคดีค้างไม่สั่งสำนวนตามระเบียบ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เเละไม่อุทิศเวลาแก่ราชการ