'วิรุตม์' งัดพรบ.ตำรวจ กระตุก ผบ.ตร. ชี้ตร.โดนคดีอาญา ควรสั่ง 'พักราชการ' ไว้ก่อน

'วิรุตม์' งัดพ รบ.ตำรวจ มาตรา  131 กระตุก ผบ.ตร. ตำรวจต้องหาคดีอาญา  ผู้บังคับบัญชาควรสั่ง 'พักราชการ' หรือ  'ให้ออกจากราชการไว้ก่อน' เพื่อมิให้มีปัญหา ประชาชนเกิดความเคลือบแคลง และไม่ไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่
 
20 มี.ค.2567-  พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เปิดเผยว่า  จากเหตุการณ์ที่มีตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาข้อหาร้ายแรงต่างๆ กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดี “เป้รักผู้การ 140  ล้าน” หรือ คดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้ามือการพนันหรือเวปพนันที่กำลังเป็นข่าวอื้อฉาวนั้น มีผู้คนสงสัยกันมากว่า   เหตุใดพวกเขาแทบทุกคนจึงยังคงรับราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยต่างๆ กันเป็นปกติ หรือ แม้บางคนจะถูกสั่งให้ไปประจำศูนย์ปฏิบัติการไม่มีงานการอะไรทำเป็นชิ้นเป็นอัน  แต่ก็ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนเป็นปกติทุกเดือน  
 
"นอกจากนั้นยังมีอำนาจตำรวจในการตรวจค้นหรือจับกุมผู้กระทำผิดอาญา สามารถพกพาอาวุธปืนได้  ประชาชนต่างสงสัยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีมาตรการในการสั่งให้ตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรืออย่างไร"
  
พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวว่า   การที่รัฐบรรจุแต่งตั้งให้ประชาชนคนใดเข้าเป็นข้าราชการดำรงตำแหน่งต่างๆ  โดยเฉพาะตำรวจผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย มีอำนาจตรวจค้นจับกุมบุคคลและพกพาอาวุธปืนได้นั้น  ก็เพราะรัฐและประชาชนไว้วางใจให้บุคคลนั้นทำหน้าที่อันสำคัญซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมาก  
 
"แต่เมื่อบุคคลที่เป็นตำรวจตำแหน่งต่างๆนั้นกลับกลายเป็นผู้กระทำผิดอาญาเสียเองจนถึงขนาดตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีการออกหมายเรียกหรือเสนอศาลออกหมายจับ  ซึ่งหมายถึงว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและศาลเห็นว่าคดีที่กล่าวหามีพยานหลักฐานระดับหนึ่งน่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิด  ซึ่งการพิสูจน์ความผิดจนสิ้นสงสัยเป็นเรื่องต้องใช้เวลาอีกนานไม่ว่าจะเป็นชั้นการสอบสวนและการสั่งคดีของอัยการ รวมทั้งการพิจารณาของศาลทั้งชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์และชั้นฏีกา"
 
พ.ต.อ.วิรุตม์   กล่าวต่อว่า ระหว่างการถูกดำเนินคดีซึ่งต้องใช้เวลายาวนานรวมไม่ต่ำกว่าห้าถึงเจ็ดปีนี้  ย่อมมีปัญหาว่าทั้งรัฐและประชาชนไม่สามารถไว้วางใจให้เขาทำหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมายต่อไปได้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565  มาตรา 131  จึงบัญญัติไว้ว่า  “ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา  เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105  (ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ) มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้   แต่ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนทางวินัยว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดหรือกระทำผิดไม่ถึกับถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก  ก็ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น"
 
"กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาของตำรวจผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาข้อหาต่างๆ ที่มิใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ มีอำนาจหน้าที่ต้องพิจารณาออกคำสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อตำรวจผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาทุกคนและทุกกรณี  เพื่อมิให้มีปัญหาประชาชนเกิดความเคลือบแคลงและไม่ไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าตำแหน่งใด แต่หากในที่สุด พนักงานอัยการได้สั่งไม่ฟ้องคดีหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด  ก็สามารถสั่งให้บุคคลนั้นกลับเข้าราชการในตำแหน่งเดิมได้ ไม่ใช่รัฐและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังคงปล่อยให้ตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรงสารพัด ยังคงรับราชการตำรวจ ทำหน้าที่รักษากฎหมาย พกพาอาวุธ และตรวจค้น จับกุมประชาชนได้เช่นที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน" พ.ต.อ.วิรุตม์   กล่าว
 
 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กต่อ-มาดามกุ๊กไก่' ออกงานคู่ครั้งแรก

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร. พร้อมด้วยคุณนิภาพรรณ สุขวิมล นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ เป็นประธานในพิธีมอบทุนการศึกษาของสมาคมแม่บ้านตำรวจ ประจำปี 2567 ณ ห้องแจ้งยอ

เอ๊ะยังไง! นายกฯ เซ็นคำสั่งเองส่งคืน 'บิ๊กต่อ' แต่ขอดูอีกรอบก่อนเผยแพร่

นายกฯ ขอดูคำสั่ง 'บิ๊กต่อ' กลับ ตร. ก่อนเผยเเพร่ วอนอย่าเพิ่งด่วนสรุป รับปัญหาวงการสีกากีมีมานาน ยันพยายามสะสางไม่ได้ทิ้ง ลั่นพบผิดฟันขั้นเด็ดขาดแน่