'ดีเอสไอ' เปิดพฤติการณ์กลุ่มผู้ต้องหา จ่ายส่วยตู้คอนเทเนอร์ให้ จนท.ปศุสัตว์-ศุลกากร

29 ก.พ. 2567 - ที่ห้องพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับแก่บุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดมายังราชอาณาจักรไทย ในคดีพิเศษที่ 127/2566 ทั้งสิ้น 9 หมายจับ ประกอบด้วย 5 หมายจับบุคคลทั่วไป คือ 1.นายประกร มหากิจโภคิณ 2.น.ส.ชนิสรา มหากิจโภคิณ 3.นายกิตติ ราชเนตร 4.นายภูวดล เกลียวจยกูล 5.นายพลภัทร สุขหน้าไม้ และหมายจับนิติบุคคล 4 หมายจับ ได้แก่ 1.บริษัท พีซี ฟูดส์ เซ็นเตอร์ จำกัด 2.บริษัท มั่นคง โฟรเซ่น จำกัด 3.บริษัท โคลเวอร์ซัพพลาย จำกัด 4.บริษัท โปรดักส์-มี จำกัด โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ชุดศูนย์สืบสวนสอบสวนและการข่าว ดีเอสไอ ได้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 2 ราย คือ นายประกร และนายพลภัทร ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

โดยพ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยก่อนเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 5 รายที่ได้มีการออกหมายจับ คือ กลุ่มที่นำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์แช่แข็ง และยังเป็นการใช้ระบบเขตปลอดอากร (Free Zone) ซึ่งในกลุ่มนี้จะยังมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรหรือเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ โดยดีเอสไอพบจากบัญชีรายจ่ายที่กลุ่มผู้ต้องหามีการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งแบบรายเดือนและแบบรายตู้ มีทั้งการจ่ายแบบเงินสดและโอนเข้าบัญชีธนาคาร รวมทั้งพบว่ายังมีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายส่วนเพื่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเราจะต้องไปขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติมว่ากลุ่มคนที่มีรายชื่อรับเงินจากผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจริงหรือไม่ ส่วนยอดเงินที่กลุ่มผู้ต้องหาจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ(เจ้าหน้าที่ศุลกากร) พบว่ามีการจ่ายแบบรายตู้ผ่อนผัน ตกตู้ละ 20,000 บาท ซึ่งดีเอสไอตรวจค้นบริษัทของกลุ่มผู้ต้องหาพบว่ามีจำนวน 33 ตู้ จ่ายไปแล้ว 660,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเงินให้โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร เดือนละ 30,000 - 50,000 บาท และยังมีการจ่ายให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ถูกระบุว่าเป็นหน้าห้องด้วย ซึ่งเราจะสอบสวนขยายผลให้หมดทั้ง 2 หน่วยงาน (กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร) และจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดเพื่อดูว่ามีใครร่วมกระทำความผิดอีก

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า กลุ่มผู้ต้องหาได้ใช้บริษัทของตัวเองในเครือทั้ง 4 บริษัทนำเข้าตู้คอนเทเนอร์มาก่อนแล้ว โดยดูจากผลการตรวจค้นบริษัทฯ ในเขตปลอดอากร FREE ZONE มีการนำสินค้าประเภทซากสัตว์ประเภทสุกร เครื่องในโค ตีนไก่ ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.63 ถึงวันที่ 31 ม.ค.67 รวมเป็นจำนวน 3,469 ตู้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้สิทธิด้านภาษีอากรโดยให้บริษัทที่เป็นเครือข่ายนำเข้ามาและอ้างว่าได้โอนให้กันเพื่อใช้สิทธิด้านภาษีอากรขาเข้า และเมื่อนำเข้ามาแล้ว กลับไม่ได้ทำการผลิตใหม่ตามที่กรมศุลกากรกำหนด จากนั้นนำออกจากเขตปลอดอากร PM FREE ZONE เข้าไปจำหน่ายในประเทศไทยให้กับบริษัทจำหน่ายอาหารสดในประเทศไทย จากนั้นนำมาขอลดอากรทำให้เกิดความเสียหายด้านภาษีศุลกากร เฉลี่ยประมาณตู้ละ 400,000 บาท หากนำมาคูณกับจำนวนตู้สินค้าจำนวน 3,469 ตู้ จะพบว่าเกิดความเสียหายด้านภาษีศุลกากร จำนวน 1,387,600,000 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งเราจะใช้สอบถามผู้ต้องหาว่าที่มีการนำเข้าตู้นั้นมันเกี่ยวข้องอย่างไรบ้างและมีวิธีการขั้นตอนนำเข้าอย่างไร

"การนำเข้าตู้คอนเทเนอร์ของกลุ่มผู้ต้องหาถือว่าทำอย่างผิดกฎหมาย แม้จะผ่านพิธีการศุลกากร แต่ไม่มีการเสียภาษีเพราะนำเข้าเขตปลอดอากร (Free Zone) และทำกระบวนการขอยกเว้นภาษี ทำให้รัฐขาดรายได้ ซึ่งจะประสานกับศุลกากรเพื่อทราบจำนวนทั้งหมดต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์ จำนวน 90 ตู้ที่ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง ได้รับแจ้งความจากเจ้าหน้าที่ด่านแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยกลุ่มของผู้ต้องหาเข้าไปเกี่ยวข้อง 25 ตู้ ซึ่งทางตำรวจก็ได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอเพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน" พ.ต.ต.ณฐพล กล่าว

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวด้วยว่า จากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร โดยมีพฤติกรรมเอื้อให้กลุ่มผู้ต้องหาสามารถประกอบธุรกิจได้ง่าย ทั้งนี้ แนวทางการพิจารณาให้ประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนหรือไม่นั้น เราจะต้องดูจากการให้ความร่วมมือให้ถ้อยคำชี้แจงของกลุ่มผู้ต้องหาว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีหรือไม่ และจึงจะเสนอผู้บังคับบัญชา (รรท.อธิบดีดีเอสไอ) โดยถ้าหากได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ทางผู้ต้องหาจะต้องใช้หลักทรัพย์วงเงิน 200,000 บาทเท่ากันหมด

สำหรับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ต้องหานั้น พ.ต.ต.ณฐพล อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนผันให้กลุ่มผู้ต้องหานำตู้คอนเทเนอร์เข้ามาในไทย หรือการรับจ่ายเงินเป็นรายเดือนและรายตู้ ก็ถือเป็นการทุจริต โดยจากการตรวจสอบ เราพบว่าเจ้าหน้าที่ที่รับเงินเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองหน่วยงาน (กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร) โดยมีตำแหน่งสูงกว่าตำแหน่ง ผอ. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับ ซี9 รวมๆแล้วพบว่ามีจำนวนหลายสิบรายที่รับเงินจากกลุ่มผู้ต้องหา

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ต้องหาอีก 3 รายที่เหลือ ได้แก่ 1.น.ส.ชนิสรา มหากิจโภคิณ 2.นายกิตติ ราชเนตร และ 3.นายภูวดล เกลียวจยกูล เตรียมเข้ามอบตัวในวันพรุ่งนี้ แบ่งเป็น รอบเวลา 09.00 น. น.ส.ชนิสรา และรอบเวลา 13.00 น. เป็นนายกิตติ และนายภูวดล เข้าให้ปากคำ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผบ.ตร. ขอรอดูพฤติการณ์ 'สามารถ' หลบหนีหรือไม่ หลังถูกจับที่เชียงราย

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้าควบคุมตัวนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน

DSI จ่อสรุปสำนวนคดี '18 บอสดิไอคอน' เสนออัยการคดีพิเศษ

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าคดี 18 บอสดิไอคอน ว่า การประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ของคณะ