เปิดหลักกฎหมาย แนวคำพิพากษาศาลฎีกา คดีพรากผู้เยาว์ 'สมรักษ์' จะรอด-ไม่รอด

15 ธ.ค.2566 - จากกรณี นายสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักมวยเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกและอดีตผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ ถูกกล่าวหาฐานล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิง อายุ 17 ปี กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่านายสมรักษ์ จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ขณะที่นักกฎหมาย ได้เผยแพร่หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์ ที่น่าสนใจ ดังนี้

หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์

มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท

มาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท

มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

มาตรา 321/1 การกระทำความผิดตามมาตรา 317 หากเป็นการกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น

แนวคำพิพากษาฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2538
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 และ 279 ต้องกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบความผิดด้วย เมื่อผู้เสียหาย อายุ 14 ปี 5 เดือน แต่จำเลยสำคัญผิดว่าอายุ 18 ปี จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยไม่รู้จักผู้เสียหายมาก่อนก็ไม่มีข้อห้ามที่ไม่ให้จำเลยอ้างความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6405/2539
จำเลยสำคัญผิดโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอายุ 17 ปี ย่อมมีผลให้จำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7820/2549
ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปและกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมนั้น จำเลยมิได้รับอนุญาตจากบิดามารดาและผู้ปกครองดูแลผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง
การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 318 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556
เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2564
ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายเข้าไปในที่เกิดเหตุโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด

การที่โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 1 ไปเล่นภายในบ้านของจำเลย ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 จะเข้าไปเองหรือจำเลยชักชวนหรือพาเข้าไป เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ถูกจำเลยกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปโดยปริยาย ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกโจทก์ร่วมที่ 2 ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา เป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2564
จําเลยรับและให้ผู้เสียหายทั้งสองทํางานเป็นเด็กนั่งดริ๊งก์บริการลูกค้า ลูกค้าที่ร่วมโต๊ะจะกอด จูบ ลูบ คลําตัวผู้เสียหายทั้งสอง ค่านั่งดริ๊งก์ชั่วโมงละ 120 บาท จําเลยหักไว้ 20 บาท จําเลยบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า ได้ค่าตัว 1,500 บาท จําเลยหักไว้ 500 บาท และบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกไปกับลูกค้าแต่ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธเนื่องจากมีประจำเดือน การกระทำของจำเลยทําให้อํานาจปกครองของ ท. และ ณ. ถูกรบกวน โดย ท. และ ณ. ไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการพรากผู้เสียหายทั้งสองไปจากอํานาจปกครองเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2564
จำเลยที่ 1 ชักชวนและแนะนำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กและผู้เยาว์ไปขายบริการทางเพศโดยผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจและเดินทางไปขายบริการทางเพศด้วยตนเองให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 แนะนำ จากนั้นก็แบ่งเงินให้จำเลยที่ 1 บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อการใช้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ที่ใดและจะยินยอมหรือไม่ เมื่อเป็นการเสื่อมเสียต่อสวัสดิภาพหรือประโยชน์สุขของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคหนึ่ง
#แอดมินและคณะทำงานของ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ


""___ สมรักษ์ #อยู่ในจุดที่อันตรายมาก กล่าวคือ

(1) จะยอมรับสารภาพผิดก็ไม่ได้ #เพราะโทษหนักมาก ต่อให้รับสารภาพผิดก็อาจจะต้องถูกจำคุกอย่างแน่นอน

(2) แม้จะสู้ก็ยังเสี่ยงมากขึ้นไป #เพราะถ้าสู้แล้วไม่หลุด โทษจะยิ่งหนักมากๆ

ดูแล้วสมรักษ์น่าจะสู้ตามแนวฎีกาซึ่งศาลฎีกาวางหลักไว้ 2 เรื่องคือ

เรื่องที่ 1 . จะสู้ว่า #ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดก็ได้ ตามมาตรา 59 วรรคสามของ ประมวลกฎหมายอาญา
(เทียบ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 7238/2549)

เรื่องที่ 2 . จะสู้ว่า #รู้ข้อเท็จจริงแต่สำคัญผิดในข้อเท็จจริงก็ได้ ตามมาตรา 62 ของ ประมวลกฎหมายอาญา
(เทียบ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3285/2562)

#ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็น_2_แนวทาง คือจำเลยจะต่อสู้ว่าไม่รวมข้อเท็จจริงก็ได้ หรือจำเลยจะต่อสู้ว่าสำคัญผิดในข้อเท็จจริงก็ได้ หรือจำเลยจะต่อสู้ทั้งสองกรณีไปพร้อมกันเลยก็ได้

#ข้อสังเกต การจะสู้ตามแนวฎีกานั้น #จะต้องพิจารณาให้ดี เพราะแนวฎีกาที่ศาลยกฟ้องเพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุของผู้เยาว์นั้น #ศาลวางหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างเข้มงวด และ #จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตจริงๆ ซึ่งจะต้องมี #เหตุผลที่หนักแน่นทำให้เชื่อได้เช่นนั้นจริงๆ

#และแนวฎีกาที่ศาลยกฟ้อง เพราะเหตุที่เชื่อว่าจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงในเรื่องอายุของผู้เสียหาย #ในบริบทที่ไปพบผู้เสียหายในสถานบันเทิงนั้น ให้ดูแนวฎีกาดังกล่าวให้ดีๆว่าผู้เสียหายอยู่ในสถานะใด เช่น #ผู้เยาว์เป็นเป็นลูกจ้างของสถานบันเทิง หรือ #ผู้เยาว์เป็นลูกค้าของสถานบันเทิง

ซึ่งถ้าอ่านฎีกาแล้ว #อ่านไม่แตกฉานการสู้คดีก็จะไม่เป็นผล เพราะจะไม่เข้าใจเหตุผลของศาลที่แท้จริง _____""

#คดีโลกคดีธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาคปชช.งัดคำพิพากษา จี้ 'อธิบดีกรมที่ดิน' เพิกถอนสิทธิ์ 'ที่ดินเขากระโดง' ให้เป็นไปตามกฎหมาย

นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี ตัวแทนผู้ประสานงาน คณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) และอดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา(สว.) กลุ่ม 17 จ.นครปฐม ได้ยื่นหนังสือทักท้วง อธิบดีกรมที่ดิน กรณีที่ดินเขากระโดง ใช้อำนาจไม่เป็นไป ตามกฎหมาย ม.61 มีใจความว่า

ฝากขังลุงซื้อบริการสาว 16 ให้เสพเฮโรอีน ช็อกตายในห้องนอน

กรณีสาววัย 16 ปี เสียชีวิตปริศนาในห้องนอน และ พบว่ามีคราบเลือดที่จมูก ภายในบ้านพักหลังหนึ่ง หมู่บ้านลัลลี่วิลล์ ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

ไม่ได้โม้! สมรักษ์มั่นใจบริสุทธิ์คดีพรากผู้เยาว์

'สมรักษ์' ไม่กังวลขึ้นศาลคดีพรากผู้เยาว์17ปี หลังศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานครั้งแรก เจ้าตัวย้ำชัด ไม่วิตกกังวล มั่นใจพยานหลักฐานในความบริสุทธิ์