31 ต.ค.2566 - นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงของกรมราชทัณฑ์ กรณี นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “เสี่ยแป้ง” อายุ 37 ปี นักโทษต้องคดีร้ายแรงหลบหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ในระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ว่า จากเดิมมีกรอบตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จ ในวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังคงไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการสอบสวน เพราะมีเนื้อหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก พบข้อมูลพาดพิงบุคคลอื่นๆ ไม่ใช่เพียงเจ้าหน้าที่ 4 รายที่มีคำสั่งย้ายไปก่อนหน้านี้ ส่วนเรื่องกรอบระยะเวลาได้เร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่สังคมเฝ้าจับตา
อีกทั้งต้องพิจารณาระเบียบของราชทัณฑ์ ว่ามันมีความบกพร่องก่อนเกิดเหตุการณ์การหลบหนีของผู้ต้องขังหรือไม่ เช่น ตั้งแต่วันแรกที่นายเชาวลิตเข้ามาที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชเป็นอย่างไร , การอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ มีความถูกต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนหรือไม่ , การเลื่อนนัดหมายของแพทย์ว่าเจ้าหน้าที่ได้รับทราบการเลื่อนนัดนั้น ก่อนที่จะคุมตัวนายเชาวลิตออกไปโรงพยาบาลหรือไม่ เป็นต้น
นายสหการณ์ กล่าวว่า ส่วนการสอบสวนผู้คุมราชทัณฑ์ในวันเกิดเหตุ เบื้องต้นชี้แจงว่าในห้องผู้ป่วยรวมดังกล่าวมีความหนาแน่นแออัด จึงตัดสินใจออกมาจากห้องคนไข้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และพยาบาลที่กำลังให้การรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ยังรับฟังไม่ได้ เพราะเมื่อผู้คุมมีผู้ต้องขังอยู่ในความรับผิดชอบดูแล ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ ห้ามละเลย ซึ่งทั้งคู่ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นไปตามระเบียบแต่อย่างใด อีกประเด็นเรื่องเครื่องพันธนาการจะต้องเเน่นหนา มีรายงานข่าวว่าทางผู้คุมได้ขยายโซ่ตรวนของผู้ต้องขังจึงเกิดการหลวมนั้น ตรงนี้ก็เป็นการสันนิษฐาน อย่างไรต้องรอรายละเอียดรายงานจากคณะกรรมการก่อน นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงินผู้คุมว่ามีการรับผลประโยชน์ มีการรับเงิน เอื้อประโยชน์ในส่วนใดหรือไม่ และก็ต้องตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ที่เคยเข้าเยี่ยมนายเชาวลิตด้วย
นายสหการณ์ กล่าวยอมรับว่า ราชทัณฑ์ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้ และต้องนำผู้ที่กระทำความผิดมารับผลทางกฎหมาย พร้อมเร่งปรับปรุงแก้ไขระเบียบของราชทัณฑ์ อุดช่องโหว่ไม่ให้สามารถใช้ดุลพินิจในทางที่ไม่เหมาะสมหรือเอื้อประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้สั่งการไปยังผู้บัญชาการเรือนจำทั่วทุกแห่งในประเทศไทย กรณีการนำผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำหรือออกไปปฎิบัติสาธารณะประโยชน์ ขอให้ผู้คุมราชทัณฑ์มองถึงความมั่นคงปลอดภัยเป็นอันดับแรก และจะต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมด้วย เพราะหน้าที่หลักคือต้องควบคุมดูแลผู้ต้องขังไม่ให้หนีและไม่ให้ก่อปัญหา