23 มิ.ย. 2566 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การเปิดศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.65 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ หรือทำภารกิจต่างๆ กว่า 37,900 ราย ความเสียหายรวมกว่า 4,590 ล้านบาท โดยผ่านหลากหลายช่องทาง
ไม่ว่าจะเป็นจากการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือการโทรศัพท์ไปหาเหยื่อโดยตรงแจ้งว่าได้รับสิ่งของฟรี หรือผ่านโฆษณาชวนเชื่อตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งงานในช่วงแรกจะเป็นง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินในจำนวนเล็กน้อยจริง จากนั้นจะชวนเข้าไลน์กลุ่มมีงานที่ยากขึ้น หรืออ้างว่าได้เหยื่อรับภารกิจพิเศษ เมื่อทำงานหรือร่วมลงทุนดังกล่าวแล้วจะได้รับค่าคอมมิชชัน หรือผลตอบแทนมากกว่างานช่วงแรก แต่ต้องโอนหรือเติมเงินเข้าระบบเพื่อเป็นการวางมัดจำ หรือไว้เพื่อสำรองทำภารกิจเสียก่อน โดยจะได้รับเงินคืนทั้งหมดเมื่อทำงาน หรือทำภารกิจเสร็จสิ้น
ทั้งนี้จะมีสมาชิกหน้าม้าในกลุ่มจำนวนหนึ่งคอยสร้างความน่าเชื่อถือ โดยแจ้งว่าเมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นจะได้รับเงินจริง กระทั่งเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปหลายครั้ง นอกจากนี้แล้วในแต่ละภารกิจเหยื่อจะต้องโอนเงินที่มีจำนวนเงินมากขึ้นเป็นลำดับ ต้องทำภายในเวลาที่กำหนดเพื่อเร่งให้เหยื่อรีบตัดสินใจไม่ทันได้ระวัง แต่เมื่อเหยื่อจะถอนเงินในระบบกลับแจ้งว่ายังทำภารกิจไม่เสร็จสิ้น หรือทำผิดกติกา หลักฐานการโอนเงินเหยื่อบันทึกข้อความไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ต้องปลดล็อก โอนหรือเติมเงินมาเพิ่มอีกหลายเท่าตัว ท้ายที่สุดกว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก หรือเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมประชาชน เนื่องจากในบางรายเป็นเงินที่ต้องกู้ยืมผู้อื่นมา หรือเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต
โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 ภารกิจ หรืองานเสริมยอดนิยม ที่นำมาใช้หลอกลวงประชาชน ดังนี้
1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างสัญลักษณ์ของแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ เช่น Shopee, Lazada, Amazon
2.กดไลก์ กดถูกใจ บัญชีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook, TikTok. Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์ เป็นต้น
3.รับชมคลิปวิดีโอเพื่อเพิ่มยอดวิวใน YouTube, TikTok
4.งานรีวิว หรืองานทดลองใช้สินค้าหรือบริการต่างๆ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร
5.งานรับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้
6.บรรจุหรือแพ็กสิ่งของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ
7.งานฝีมือสามารถทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน
8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมตสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ
9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก
10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี
“การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน จึงหลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ” พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุ
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน 7 ข้อ ดังนี้
1.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อย่าได้เข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด อาจมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ
2.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
3.หากท่านสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 081-866-3000 ตลอด 24 ชม.
4.หากสมัครทำงานไปแล้ว พบว่ามีการให้วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อนจะทำงานได้ ให้ฉุกคิดทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
5.ไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชี หรือชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้ง ผ่านเว็บไซต์ Backlistseller.com, chaladohn.com
6.ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะว่ามีการส่งสิ่งของ หรือให้เงินให้ในจำนวนเล็กน้อยก่อน
7.หากท่านประสงค์ต้องการงานทำสามารถใช้บริการของกรมจัดหางานผ่านเว็บไซต์ “smartjob.doe.go.th”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม สกัดมิจฉาชีพโทร-ส่งข้อความหลอกลวง คาดพร้อมใช้ต้นปี 68
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
'ผบช.ก.' แถลงจับหมอดูชื่อดัง 'ตี่ลี่ฮวงจุ้ย' แจ้ง 2 ข้อหาหนัก
'บิ๊กก้อง' แถลงจับ 'หมอดูตี่ลี่ฮวงจุ้ย' ตุ๋นเหยื่อซื้อวัตถุมงคลแก้เคล็ดกว่า 108 ล้าน เอาไปเล่นพนัน แจ้ง 2 ข้อหา 'ฉ้อโกง-ฟอกเงิน' พร้อมยึดรถหรู 2 คัน
คุก! ศาลไม่ให้ประกัน 'เมียตั้ม ษิทรา' หวั่นหลบหนี
ที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกองปราบปรามนำตัวนายษิทธา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหา ฉ้
เผยแจ้งความออนไลน์ 1 มี.ค 65 - 31 ต.ค. 67 เฉลี่ยเสียหายวันละ 7.7 ล้านบาท
'รองโฆษกรัฐบาล' เผยสถิติแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 1 มี.ค 65 – 31 ต.ค.67 มูลค่าความเสียหายรวม 7.48 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 77 ล้านบาทต่อวัน
'ทนายตั้ม' โผล่ฉายหนังคนละม้วน อ้างปมเงิน 39 ล้านค่าศิลปินจีน เป็นมิจฉาชีพหลอก 'เจ๊อ้อย'
ที่กองบังคับการปราบปราม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ "ทนายตั้ม" เข้าพบพนักงานสอบสวน ที่ถูกน.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ เ
ตำรวจสอบสวนกลาง CIB ผสานพลัง AIS ยกระดับเดินหน้าภารกิจปกป้องประชาชน เปิดบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร กดแจ้งเบอร์โทรมิจฉาชีพได้ทันที หลังวางสาย
ตำรวจสอบสวนกลาง CIB จับมือ AIS ยกระดับการปกป้องลูกค้า และ ประชาชน จากมิจฉาชีพต่อเนื่องไปอีกขั้น เปิดตัวบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร