22 มิ.ย.2566 - ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ, พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.2 บก.ปอท. แถลงข่าวร่วมกันจับกุม นาย เถิง จวิ้น สัญชาติจีน หัวหน้าเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมด้วยเครือข่ายรวม 11 คน โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน”
สืบเนื่องมาจากเมื่อช่วงประมาณต้นปี พ.ศ.2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนจากทางสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพได้นำชื่อสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปแอบอ้างด้วยการเปิดเว็บไซต์หลอกลวงประชาชนให้นำเงินมาลงทุนในหุ้นทองคำ โดยใช้ชื่อเว็บไซต์ว่า Royal Gold (https://sh.capital868.com/main/home) ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายหลงเชื่อนำเงินไปร่วมลงทุนกับกลุ่มมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก โดยจากการตรวจสอบ ตั้งแต่ มกราคม ถึง พฤษภาคม 2566 พบมีผู้เสียหายหลงเชื่อกว่า 2,000 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 500 ล้านบาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงมอบหมายให้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รับผิดชอบสืบสวนและติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว
จากการสืบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. พบว่ากลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวมีพฤติกรรมหลอกลวงโดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กปลอมเป็นหญิงสาวหน้าตาดี ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับผู้เสียหาย ตีสนิทด้วยการพูดคุยในลักษณะเชิงชู้สาว ก่อนจะชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนในหุ้นทองคำผ่านเว็บไซต์ Royal Gold (เว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา มีลักษณะคล้ายเว็บไซต์เทรดหุ้น มีกราฟแสดงมูลค่าของหุ้นตลอดเวลา) นอกจากนี้มีการแอบอ้างว่าเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ลงทุนในหุ้นทองคำที่เกี่ยวข้องกับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
ซึ่งในช่วงแรก มิจฉาชีพจะชักชวนให้ผู้เสียหายนำเงินมาทดลองลงทุน โดยจะให้ผู้เสียหายโอนเงินลงทุนไปยังบัญชีม้าที่เปิดเตรียมไว้ หลังจากลงทุนไปสักระยะเวลาหนึ่ง มิจฉาชีพจะคืนเงินต้น และให้ผลตอบแทนในการลงทุน (คิดเป็น 10% ของเงินลงทุน) จึงทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวได้รับผลตอบแทนจริง อีกทั้งในเว็บไซต์ดังกล่าวมีการแสดงยอดเงินลงทุนและผลตอบแทนให้เห็นตรงตามกับจำนวนเงินที่ผู้เสียหายลงทุนไป จึงยิ่งทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ภายหลังเมื่อผู้เสียหายต้องการจะถอนเงินออกจากเว็บไซต์ มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหายเสียค่าดำเนินการและเสียภาษีก่อน โดยเมื่อผู้เสียหายโอนเงินเพิ่มตามจำนวนที่มิจฉาชีพแจ้งแล้ว มิจฉาชีพจะบล็อกช่องทางการติดต่อ ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกับมิจฉาชีพได้อีก
จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปยังบัญชีม้าตามที่มิจฉาชีพกล่าวอ้างแล้ว เงินทั้งหมดจะถูกนำไปซื้อเหรียญดิจิทัล (Cryptocurrency) ในสกุล USDT จากพ่อค้าคนกลาง หลังจากนั้นจะมีการโอนเหรียญดิจิทัลดังกล่าวเข้าไปยังกระเป๋าวอลเล็ตม้า (กระเป๋าดิจิทัลที่ถูกว่าจ้างให้เปิด) ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการฟอกเงินในรูปแบบเหรียญดิจิทัล โดยเป็นการยักย้ายถ่ายเทเหรียญคริปโตในเครือข่ายกระเป๋าเหรียญดิจิทัลที่มีมากกว่าร้อยกระเป๋า แต่ท้ายที่สุดก็พบว่าคนร้ายมีการโอนเหรียญดิจิทัลทั้งหมดไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลของกลุ่มผู้บริหารเครือข่ายชาวจีนที่รับหน้าที่ฟอกเงิน โดยการนำเหรียญดิจิทัลที่ได้มาจากการฉ้อโกงไปขายแลกกลับมาเป็นเงินบาทไทย ก่อนจะนำเงินที่ได้มาไปส่งมอบให้กับหัวหน้าเครือข่าย
ซึ่งรูปแบบการกระทำความผิดของกลุ่มมิจฉาชีพ พบว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะขบวนการ มีแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจะแบ่งเป็น 1. หัวหน้า ทำหน้าที่ สั่งการ,2. กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่ ติดต่อพูดคุยและหลอกลวงเหยื่อ, 3.กลุ่มจัดหาบัญชีม้าและกระเป๋าม้า รวบรวมบัญชีต่างๆ นำไปมอบให้กับกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ 4.กลุ่มบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ทำหน้าที่รับจ้างเปิดบัญชีและกระเป๋าเงินดิจิทัล 5. กลุ่มที่ทำหน้าที่ฟอกเงิน แลกเปลี่ยนเงิน รวมถึงทำหน้าที่รับโอนเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงเพื่อนำไปซื้อเหรียญดิจิทัล และขายเหรียญดิจิทัลเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทยและจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มคนที่รับจ้างเปิดบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน ประมาณ 3,000 – 4,000 บาท โดยกลุ่มผู้จัดหาและว่าจ้างจะเตรียมโทรศัพท์พร้อมซิมการ์ดมาให้กลุ่มผู้รับจ้างทำการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับกระเป๋าแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล (Wallet) หลังจากนั้นจะรวบรวมบัญชีม้าพร้อมโทรศัพท์มือถือที่ผูกกับกระเป๋าม้านำไปส่งให้กับนายทุนที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ สปป.ลาว
จากข้อมูลในการสืบสวนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการรวบรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการ โดยในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุม ผู้ร่วมขบวนการใน กลุ่มของผู้จัดหาและรวบรวมบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า, กลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 8 ราย และหลังจากนั้น วันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มอีก 3 ราย เป็น หัวหน้าเครือข่าย, ผู้บริหารดูแลเรื่องฟอกเงิน และผู้รวบรวมบัญชี รวมผู้ต้องหาที่จับกุมได้ทั้งสิ้น 11 ราย จากนั้นได้มีการนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหาเบื้องต้น หนึ่งในผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่จัดหาและรวบรวมบัญชีม้า ให้การรับว่าตนเองได้รับการว่าจ้างมาจากนายทุนชาวจีน ว่าจ้างให้รวบรวมบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้าของคนไทย และให้นำไปส่งมอบให้กับชาวจีนที่อยู่ในพื้นที่ของบ่อนคาสิโนคิงส์โรมัน ฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานปฏิบัติการ โดยตนจะได้รับค่าจ้างประมาณ 10,000 บาท ต่อบัญชี ซึ่งสาเหตุที่ตนรับจ้างทำงานในลักษณะนี้ เนื่องจากตนเองมีหนี้สินที่เกิดจากการเล่นพนันในบ่อนคาสิโนคิงส์โรมัน และนายทุนชาวจีนดังกล่าวเป็นคนภายในบ่อนคาสิโน ตนจึงถูกบังคับให้จัดหาและรวบรวมบัญชีม้ามาให้เพื่อใช้หนี้การพนัน
จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถตรวจยึดทรัพย์สิน จำนวนหลายรายการ อาทิเช่น รถยนต์หรู จำนวน 3 คัน, เงินสด รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท, สร้อยคอทองคำ แหวน กว่า 30 รายการ, นาฬิกาหรู และกระเป๋าแบรนเนมด์, คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ก, โทรศัพท์มือถือ, ซิมการ์ด, สมุดบัญชีธนาคาร และใบรับประกันทอง จำนวนหลายรายการและจากการตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่ได้ตรวจยึดมา พบว่า มีกลุ่ม Telegram ซึ่งเป็นกลุ่ม Scammer จะมีการส่งภาพถ่าย หญิงสาวหน้าตาดี, ภาพอาหารราคาแพง, ภาพวาบหวิวของหญิงสาว และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพื่อใช้ในการหลอกลวงเหยื่อให้ตกหลุมรัก
อีกทั้งยังมีบทสนทนาที่เตรียมไว้พูดคุยกับเหยื่อ และตารางสรุปยอดที่เหยื่อหลงเชื่อและสนใจเข้ามาลงทุน ไปจนถึงจำนวนเหยื่อที่เข้ามาลงทุนในเว็ปไซต์ และยังมีหนึ่งในผู้ต้องหา รับว่าใบรับประกันทองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดมา เป็นการซื้อทองคำ เพื่อนำไปมอบเป็นรางวัลโบนัสให้กับพนักงานที่สามารถหลอกลวงเหยื่อให้เข้ามาลงทุนในเว็บไซต์ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.ปชน. ถามมาตรการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้องใจ 'ทักษิณ' บอกจะช่วยจัดการ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามทั่วไป ของนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคประชาชน
'กัณวีร์' ฝากการบ้าน 'ทักษิณ' ช่วยเหยื่อค้ามนุษย์ 361 ชีวิตก่อนปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์รูปพร้อมเนื้อหา
ผอ.ศูนย์ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ยินดี 'ทักษิณ' จะช่วยจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์
พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยภายหลังหารือกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ฝากคนสะกิดพ่อนายกฯ พูดกร่างเป็นนักเลงโตระวังเจอขาประจำ
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ระวังมิจฉาชีพ 'ตำรวจ' ย้ำอายัดเงินเองได้ ไม่ต้องโอนมาให้ตรวจสอบ
ย้ำเตือนตำรวจอายัดเงินเองได้ ไม่ต้องโอนมาให้ตรวจสอบ หากมีตำรวจวิดีโอคอลให้โอนเงินคือมิจฉาชีพ
เด็ดปีก 'มังกรเทาดำ' ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดทรัพย์ 152 ล้าน
ตำรวจภาค 2 เด็ดปีก 'มังกรเทาดำ' ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เปิดบริษัทฟอกเงิน ยึดทรัพย์คฤหาสน์-รถหรู 152 ล้านบาท