กรมการค้าภายในจับพ่อค้าทุเรียนชาวต่างชาติ แอบขายทุเรียนโกงตาชั่ง

กรมการค้าภายในจับพ่อค้าทุเรียนชาวต่างชาติ แอบขายทุเรียนโกงตาชั่ง เพิ่มน้ำหนักไปครึ่งกิโลกรัม คนซื้อเสียหายไม่ต่ำกว่า 75 บาท ส่งตัวตำรวจดำเนินคดีแล้ว โทษหนัก จำคุกและปรับ เผยเป็นเคสแรกของปีนี้ ส่วนปี 65 จับไป 14 ราย เป็นชาวต่างชาติ 7 ราย ศาลตัดสิน 1 รายที่ดัดแปลงเครื่องชั่ง คุก 2 ปี ที่เหลือเปรียบเทียบปรับ ยันเดินหน้าตรวจสอบต่อ พร้อมขอความร่วมมือตลาดให้ช่วยสอดส่อง ป้องกันผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ

19 พ.ค. 2566 – ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบพ่อค้ารถเร่ที่จำหน่ายทุเรียน ในย่านบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พบว่า มีการดัดแปลงเครื่องชั่ง โดยเอาเครื่องหมายรับรองตราครุฑที่กรมฯ ออกให้ออก เมื่อเอาตุ้มน้ำหนักขนาด 4 กิโลกรัม (กก.) ไปตรวจสอบ ปรากฏว่าน้ำหนักขึ้นเป็น 4.5 กก. สูงกว่าน้ำหนักที่แท้จริง 0.5 กก. ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการดัดแปลงเครื่องชั่งสปริงให้แสดงค่ามากกว่าความเป็นจริง จึงได้ดำเนินการจับกุมเจ้าของเครื่องชั่ง ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ชาวเวียดนาม และได้ส่งตัวแจ้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางใหญ่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

“กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กรมฯ ยอมรับไม่ได้ เพราะช่วงนี้ผลไม้กำลังออกสู่ตลาด ผู้บริโภคนิยมซื้อไปบริโภค โดยเฉพาะทุเรียน กก.ละ 150 บาท การที่ชั่งเกินไปครึ่งกก. เมื่อคิดเป็นความเสียหายจะตกอยู่ที่ 75 บาท ดูเหมือนไม่เยอะ แต่ถ้าทำหลาย ๆ ครั้ง ทำทุกวัน ความเสียหายก็มากขึ้น โดยรายที่ถูกจับกุมนี้ ถือเป็นรายแรกของปีนี้ ส่วนปีที่แล้ว จับกุมได้ 14 ราย เป็นชาวต่างชาติ 7 ราย เป็นเวียดนามล้วน ๆ มี 1 ราย ที่ดัดแปลงเครื่องชั่ง ถูกศาลตัดสินจำคุกไป 2 ปี ถ้าครบกำหนดก็จะผลักดันออกนอกประเทศต่อไป ที่เหลือ ใช้เครื่องชั่งไม่ถูกต้อง ถูกเปรียบเทียบปรับ”ร.ต.จักรากล่าว

สำหรับข้อหาที่ได้แจ้งดำเนินคดี ได้แก่ ใช้เครื่องชั่งในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้อื่น กระทำการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ความเที่ยงของเครื่องชั่งผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ตามมาตรา 26 เป็นผู้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบทางการค้า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 25 วรรค 1 , 26 , 70 , 75/1 ,76 (2) , 80 (3) และมาตรา 79 แห่งพ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 280,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร.ต.จักรา กล่าวว่า กรมฯ ยังได้ขอความร่วมมือผู้ดูแลตลาด และสายตรวจอาสา DIT ที่ประจำอยู่ตามตลาดต่าง ๆ ให้ช่วยสอดส่องดูแลและตรวจสอบเครื่องชั่งในตลาดอย่างเข้มงวด ถ้าพบว่าผู้ใดมีเจตนาโกงเครื่องชั่ง ก็ขอให้ยกเลิกสัญญาเช่าหรือไม่ยินยอมให้กลับไปขายสินค้าในตลาดได้อีก และขอให้ตลาดจัดให้มีเครื่องชั่งกลาง เพื่อให้ประชาชนสามารถนำสินค้าที่ซื้อไปชั่งที่เครื่องชั่งกลาง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของน้ำหนักสินค้า ส่วนประชาชนที่ซื้อสินค้าในตลาด ขอแนะนำให้สังเกตเครื่องชั่งว่าเริ่มที่ 0 (ศูนย์) และเครื่องชั่งนั้นมีสติ๊กเกอร์การตรวจสอบประจำปีของกรมฯ หรือไม่ โดยปีนี้เป็นสีน้ำตาล และหากพบว่าน้ำหนักไม่ครบตามที่ตกลงซื้อ สามารถแจ้งมาที่สายด่วน 1569 หรือ line @ MR.DIT

นายชาตรี อารีวงศ์ ผู้อำนวยการกองชั่งตวงวัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีสถิติการจับกุมตาม พ.ร.บ. มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 585 ราย แจ้งความดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 22 ราย เปรียบเทียบปรับรวมทั้งสิ้น 541 ราย และยึด ทำลาย ผูกบัตรรวมทั้งสิ้น 22 ราย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลยันผู้ปลูกมันสำปะหลังไม่ถูกกดราคาแน่

รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นผู้ปลูกมันสำปะหลัง เตือนพ่อค้ากดราคา โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จัดสายตรวจเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายมันฯ ในแหล่งเพาะปลูกทั่วประเทศ รับฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่ม ธ.ค.นี้

พาณิชย์คุยปิดฤดูกาลผลไม้ราคาพุ่งทุกรายการ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท

ปิดฤดูกาลผลไม้ปี 67 อย่างงดงาม เกษตรกรยิ้ม ราคาพุ่งทุกรายการ ส่งออกผลไม้ 8 เดือนแรกเป็นบวก รวมมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท “พิชัย”สั่งเตรียมมาตรการเชิงรุกปี 68 ต่อ