นอภ.เมืองกาญจน์ แจงบัตรปชช.7ใบเป็นของปลอม หนุ่มดวงซวยโร่แจ้งตร.โดนมิจฉาชีพหลอก

นอภ.เมืองกาญจนบุรี แจงโลกโซเชียลแชร์คนเดียวมีบัตรประชาชนถึง 7 ใบ เป็นบัตรปลอม ตรวจสอบในฐานข้อมูลแล้วไม่พบการทุจริต ส่วนหนุ่มบัตร7ใบโร่แจ้งตำรวจ เผยส่งสำเนาบัตรกู้เงินทางออนไลน์โดนมิจฉาชีพปลอมบัตรไปก่อคดีอื้อ

10มี.ค.2566- จากกรณีโลกโซเชียล มีการโพสต์เรื่องหนุ่มเมืองกาญจน์ มีบัตรประชาชนถึง7ใบ พร้อมแสดงความคิดเห็นว่าเป็นไปได้อย่างไร ใกล้เลือกตั้งเกิดอะไรขึ้นแบบนี้ จากการตรวจสอบดูในภาพพบว่าบัตรแต่ละใบ ชื่อและนามสกุลเจ้าของบัตร มีชื่อไม่ซ้ำกัน รวมทั้งเลขที่บัตรก็ไม่เหมือนกัน มีเพียงใบหน้า ที่อยู่ เท่านั้นที่ตรงกับบัตรจริง

นายธนณัฏฐ์ ศรีสันต์. นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า บัตรประชาชนทั้ง 7 ใบเป็นบัตรปลอมทั้งหมด และจากการเข้าไปดูในฐานข้อมูลไม่มีเช่นกัน ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ทางอำเภอจะดำเนินการอย่างไรนั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่เรา และทราบมาว่าคนที่นำบัตรไปหลอกลวงอยู่ทางภาคเหนือ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน

"ปัจจุบันการทำบัตรประชาชน สามารถไปทำได้ในทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ เมื่อเห็นบัตรประชาชนดังกล่าวเป็นคนเมืองกาญจนบุรี นักข่าวหรือประชาชนเข้าใจว่า อำเภอเมืองกาญจน์จะมีการทุจริต ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าหากมีการทุจริตจริง เมื่อกดเข้าไปดูในฐานข้อมูล ก็จะรู้ได้เลยว่า บัตรประชาชนออกมาจากสำนักทะเบียนไหน และจากการตรวจสอบบัตรดังกล่าว พบว่าบุคคลดังกล่าวบ้านอยู่เทศบาลตำบลลาดหญ้า แต่เจ้าของมาทำบัตร ที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี เมื่อทราบข่าวดังกล่าว ผมก็เป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่ของเรามีการทุจริตหรือไม่ จริงรีบทำการตรวจสอบโดยด่วน แต่ก็ไม่พบการทุจริตแต่อย่างใด"

นายธนณัฏฐ์ กล่าวว่า สำหรับเจ้าของบัตรตัวจริงชื่อ นายภาคิน (สงวนนามสกุล) อายุ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน ตรงกัน แต่ในบัตรที่ปลอมขึ้นมา มีการเปลี่ยนรหัสเลข 13 หลักสลับกันไปมา รวมทั้งชื่อนามสกุลในบัตรทั้ง 7 ใบก็ไม่เหมือนกันด้วย สรุปแล้วต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบว่าใครเป็นคนปลอมแปลง เอกสารบัตรประชาชน จำนวนดังกล่าว โดยเจ้าของบัตรตัวจริง ได้ไปทำบัตรประชาชนล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม ปี 2566 ที่ผ่านมา ที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี เนื่องจากบัตรหมดอายุ และรูปในบัตรเป็นรูปหน้าเจ้าของบัตร ในปัจจุบัน

ถามว่าในกรณีนี้ทางอำเภอ จะต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่นั้น เพราะกรณีนี้อำเภอเมืองกาญจนบุรีของเราไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะตามที่นำเรียนสื่อมวลชนไปแล้วว่า บัตรประชาชนในปัจจุบัน สามารถเดินทางไปทำได้ในทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และหากใครนำบัตรคนอื่น ไปใช้ในทางเสียหาย เจ้าของบัตรตัวจริงจะเป็นผู้เสียหายโดยตรง แต่ถ้าหากเราตรวจสอบอย่างละเอียด แล้วพบว่ามีการปลอมแปลง บัตรประชาชนจริง กรมการปกครอง จะเป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่อำเภอเป็นผู้เสียหาย

"อยากจะแจ้งเตือนไปถึงประชาชนผ่านสื่อมวลชนว่า บัตรประชาชนนั้นมีความสำคัญมาก ทุกวันนี้หากนำบัตรประชาชนไปแสดงเพื่อทำธุรกิจหรือธุรกรรมอะไรต่างๆ ก็ใช้บัตรประชาชนแค่ใบเดียวเพราะฉะนั้นอย่าไว้ใจและให้ใครไปเด็ดขาด และหากทำธุรกรรมอะไรก็ให้ขีดค่อมแล้วเขียนระบุใช้เฉพาะธุระนั้นให้ชัดเจน สำหรับบัตรทั้ง 7 ใบ เหมือนกันเฉพาะที่อยู่ จากการตรวจสอบแล้วไม่พบในฐานข้อมูล จึงไม่รู้ว่าออกมาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสำนักทะเบียนจึงยังไม่เกิดความเสียหาย แต่ถ้าหากมีการนำบัตรไปใช้สำนักทะเบียนกรมการปกครองจะเป็นผู้เสียหาย เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูเรื่องบัตรประชาชนในภาพรวมทั้งประเทศ"

ต่อมาเวลา 13.30 น.ที่ สถานีตำรวจภูธรลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นายภาคิน (ขอสงวนนามสกุล) พร้อมพี่ชาย เดินทางเข้าพบนายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกัน และปราบปราม การทุจริตการทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชน (ผอ.สปท.) เพื่อให้ข้อมูลกรณีดังกล่าว

นายภาคิน เปิดเผยว่า ตนเองมีอาชีพทำร้านอาหาร อยู่ในตำบลลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี วันหนึ่งมีโทรศัพท์เข้ามาอ้างว่าเป็นสารวัตรสืบสวน โทรมาสอบถามว่า ตนใช่นายศรายุทธ แก่นจันทร์ หรือไม่ เนื่องจากมีผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ ว่ามีการซื้อขายรถจักรยายนต์ โอนเงินเข้าบัญชีไปแล้ว แต่ไม่ได้รับรถ และยังปิดช่องทางการติดต่อ เมื่อเป็นเช่นนั้น ตนจึงเดินทางมายังสถานีตำรวจภูธรลาดหญ้า เพื่อลงบันทึกประจำวัน แสดงความบริสุทธิ์ไว้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 แต่หลังจากนั้น ก็มีผู้เสียหายรายอื่นๆ ติดต่อมาหาตน ทั้งทางโทรศัพท์ บางรายเดินทางมาถึงหน้าบ้าน

นายภาคิน กล่าวว่า จึงมาคิดทบทวนว่า เคยให้เอกสารบัตรประชาชนใครไปหรือไม่ เมื่อไล่ดูจึงทราบว่า เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2565 หลังงานศพมารดา ตนได้ทำเรื่องกู้เงินออนไลน์ ไปยังแอฟปล่อยเงินกู้ เพื่อขอกู้เงินในวงเงิน 50,000 บาท จากนั้นแอฟกู้เงินดังกล่าว ได้ให้ตนเข้ากลุ่มไลน์ศูนย์อนุมัติเงินกู้ เพื่อยืนยันตัวตนโดยให้ถ่ายรูปตนเองคู่กับบัตรประชาชน ในการทำเรื่องกู้ พร้อมให้ตนโอนเงินค่าดำเนินการ จำนวน 500 บาท เพื่ออนุมัติวงเงินที่ขอไป ตนจึงได้ทำตาม แต่ทางศูนย์อนุมัติเงินกู้ ยังได้แชทข้อความขอให้โอนเงินเพิ่มอีก 1,200 บาท อ้างติดปัญหานิดหน่อยต้องโอนเพิ่ม

"จึงคิดว่าน่าจะถูกหลอกลวง จึงไม่ทำตาม และไม่ติดต่อกลับไปแต่อย่างใด จนมีผู้เสียหายรายอื่นๆติดต่อมาหา ทำให้รู้ว่าบัตรประจำตัวประชาชนของตนถูกปลอม และนำไปใช้ในทางทุจริต และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล และเป็นที่วิพากษ์วิจารย์กันอยู่ ณ ขณะนี้ โดยมีผู้เสียหายมากกว่าหลายสิบราย และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มาลงบันทึกประจำวัน ไว้ที่สถานีตำรวจภูธรลาดหญ้าอีกครั้ง และวันนี้มาให้ข้อมูลแก่ผู้อำนวยการ ส่วนป้องกันและปราบปราม การทุจริตการทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์"

ด้านนายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกัน และปราบปราม การทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน (ผอ.สปท.) เผยว่า ในนามของตัวแทนกรมการปกครองสำนักทะเบียนกลางได้รับคำสั่งจากกรมได้มอบหมายให้มาตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกรณีที่มีสื่อโซเชียลลงว่า เป็นบุคคลเดียว แต่มีบัตรประชาชนถึง 7 ใบ และมีชื่อที่แตกต่างกัน มีเลขประจำตัวประชาชนไม่ตรงบ้าง ชื่อไม่ตรงบ้างทั้ง 7 ใบ ซึ่งเป็นการแก้ไขในแอปข้อมูลแต่ว่าในการทำไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับในฐานระบบข้อมูลการทะเบียนบัตรประชาชน เป็นการใช้แอพที่ทำขึ้นเองจากภายนอกที่ที่รับทำทั่วไป และวันนี้ทางด้านนายภาคินได้นัดพบบอกว่าผมยินดีจะให้ข้อมูลและมาแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ภาคินก็โดนหลอก

"วันนี้ก็มาทราบว่าข้อเท็จจริงว่า บัตรใบนี้เป็นการกระทำโดยมิจฉาชีพ ที่ทำแอพขึ้นมาซึ่งเป็นแอพเงินกู้ ก็ต้องฝากเตือนไปยังประชาชน ในกรณีมีแอฟเงินกู้เข้ามาหรือการให้ซื้อสินค้าต่างๆ และต้องมีการให้ยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ต้องคอยระมัดระวัง กรมการปกครองเป็นห่วงในเรื่องนี้ และยิ่งใกล้ช่วงการเลือกตั้งอาจจะเอาไปทำบัตรประชาชนไปทำอะไรบ้าง มันจะเป็นเรื่องยาวกันไปใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเลย และเรื่องนี้เท่าที่ทราบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่ว่าเพิ่งมาดังในโซเชียล แต่เป็นการดีเหมือนกัน จะได้มีการป้องกันและแก้ไขต่อไป"

เบื้องต้น พ.ต.ท.มณิภัทร์ เพ็งเกร็ด สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรลาดหญ้า ได้รับลงบันทึกประจำวันไว้แล้วและอยู่ในขั้นตอน ของกระบวนสืบสวน หาข้อเท็จจริงต่อไป

สำหรับความผิด“การดำเนินการปลอมแปลง รายละเอียดชื่อในบัตรประจำตัวประชาชน เป็นการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนอย่าหลงเชื่อทำ 'บัตรประชาชน' ผ่านเฟซบุ๊ก

รองโฆษกรัฐบาลย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำบัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารรปลอมผ่านเพจเฟซบุ๊ก สูญเสียเงินและผิดกฎหมาย

รู้ทันโจร ก่อนตกเป็นเหยื่อ 'ธปท.' แนะเช็กให้รอบคอบก่อนกู้ออนไลน์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์ข้อความแจ้งเตือน จะกู้ออนไลน์ ต้องรู้ทันโจร ถ้ายื่นกู้ออนไลน์แล้วถูกบอกให้โอนเงินเข้าไปให้ก่อนเป็นเงินประกันหรือค่าอะไรก็ตาม เลิกแชทเลิกคุยได้เลย