อัยการสั่งสอบเพิ่ม 'คดีแตงโม' ขีดเส้น 15 วัน โต้ทนายมั่วข้อกฎหมาย

อธิบดีอัยการภาค 1 สั่งสอบเพิ่ม ‘คดีเเตงโม’ หลายประเด็น ตั้งเเต่ 17 มิ.ย. ขีดเส้น 15 วัน ‘รองโฆษกอสส.’ โต้ทนายมั่วข้อกฎหมาย-ระเบียบอัยการ ชี้นำตัดสิทธิฟ้องอัยการ

20 มิ.ย. 2565 – ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนเเจ้งวัฒนะ นายประยุทธ เพรชคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้าของคดี ตามที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาหมายเลข 234/2565 (คดีการเสียชีวิตนิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ให้กับพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี เพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65 ที่ผ่านมา ซึ่งคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนตลอดจน สื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น ว่า หลังจากพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้พิจารณาสำนวนคดีนี้ ในเบื้องต้นแล้วได้ส่งสำนวนคดีให้อธิบดีอัยการภาค 1 เพื่อพิจารณา

ต่อมานายธีระนนท์ ไหวดี อธิบดีอัยการภาค 1 ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติพนักงานอัยการและองค์กรอัยการ พ.ศ. 2553 ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้ โดยมีรองอธิบดีอัยการภาค 1 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จากการตรวจพิจารณาสำนวนของคณะทำงานเห็นว่าคดีมีประเด็นสำคัญที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น เพื่อให้สิ้นกระแสความ คณะทำงานจึงเสนออธิบดีอัยการภาค 1 เพื่อสั่งสอบสวนเพิ่มเติม โดยอธิบดีอัยการภาค 1 มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติม ตามคณะทำงานเสนอ และได้มีหนังสือลงวันที่ 17 มิ.ย.65 สั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ในชั้นนี้จึงจำเป็นต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม เมื่อผลการสอบสวนเพิ่มเติมครบถ้วน คณะทำงานและอธิบดีอัยการภาค 1 ส่วนที่จะครบกำหนดในวันที่ 23 มิ.ย.นั้น ยังคงนัดตามเดิม เพราะทางพนักงานสอบสวนอาจจะส่งสำนวนการสอบเพิ่มเติมทันกำหนด แต่หากไม่ทันก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน

นายประยุทธ กล่าวว่า ประเด็นที่มีบุคคลบางคนให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าหากผู้เสียหายฟ้องคดีนี้ต่อศาลแล้วพนักงานอัยการจะไม่สามารถฟ้องคดีนี้ได้อีก โดยบุคคลดังกล่าวอ้างถึงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วย การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 นั้น สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่าความเห็นของบุคคลดังกล่าวไม่ถูกต้อง ทั้งตามข้อกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวคือระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 48 (10) ระบุว่า “เมื่อคดีเป็นความผิดต่อส่วนตัวและผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้ว ไม่ว่าจะได้ยื่นฟ้องก่อนหรือหลังจากที่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวน และไม่ว่าคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วนั้น ศาลจะพิพากษาแล้วหรือไม่ก็ตาม พนักงานอัยการจะมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีนั้น” ซึ่งระเบียบดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับคดีอาญาแผ่นดินแต่อย่างใด และความเห็นของบุคคลดังกล่าวยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกด้วย

เมื่อถามว่า การฟ้องเองกับการส่งฟ้องของอัยการจะมีการส่งผลกระทบต่อคดีหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ในส่วนนี้ขอไม่ก้าวล่วง และไม่ขอออกความเห็น แต่ในส่วนของอัยการนั้นจะดำเนินการตามพยานหลักฐานในสำนวน ส่วนประเด็นที่สอบเพิ่มเติมอีกหลายประเด็นล่าสุดนั้น เป็นความลับทางคดีไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจะเป็นความเสียหายต่อความยุติธรรม แต่บอกได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญในคดีทั้งหมด

“ที่ต้องมาแถลงในครั้งนี้ เนื่องจากมีนักกฎหมายทำคลิปที่อ้างถึงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดแพร่หลายในโลกโซเชียลว่า หากผู้เสียหายฟ้องคดีเองเป็นการตัดสิทธิพนักงานอัยการ เราจึงต้องออกมาชี้แจงเพราะไม่ตรงกับข้อกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกสภาทนายความ เข้าพบ ประธานศาลฎีกา หารือป้องกันทนายความปลอม

ที่ศาลฎีกา นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะบริหารสภาทนายความและตัวแทนประธานสภาทนายความจังหวัด ได้เข้าพบนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา พร้อม

'ทนายโซเชียล' เปิดศึกกรรมการมรรยาททนาย 'จุ๊กกรู๊' โวลั่นจะชิงลงมือก่อน!

นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ “ทนายเดชา” โพสต์ข้อความเมื่อวานนี้ว่า "นั่งกินข้าวต้มหลังเลิกงานครับ ผมได้ข่าวมาว่ามีพวกทนายความบางคนเดินสายออกทีวี