ตร.เตือนระวังเฟซปลอม 'ปูติน-มิลลิ-ชัชชาติ' หลอก

ตำรวจเตือนปลอมบัญชีคนดังหลอกยืมเงิน หรือสร้างคอนเทนต์ปลอมหวังยอดไลก์เสี่ยงคุก

25พ.ค.2565 - พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น พบว่าที่ผ่านมา ได้มีผู้ไม่หวังดีนำเอาภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลที่เป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ มาสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงเป็นจำนวนมาก เช่น หลอกว่าจะแจกรางวัล หลอกว่าจะมอบทรัพย์สิน หรือหลอกยืมเงิน เป็นต้น

“ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตรวจสอบพบว่ามีหลายกรณีที่เป็นการหลอกลวงที่ประชาชนทั่วไปสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องเท็จ เช่น กรณีแอบอ้างเป็นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ขอความช่วยเหลือกองทัพรัสเซียทำสงครามกับประเทศยูเครนโดยให้โอนเงินผ่านทรูมันนี่, กรณีแอบอ้างเป็น น.ส.ดนุภา หรือมิลลิ คณาธีรกุล ขอยืมเงินค่าทำเพลงโดยให้โอนเงินผ่านทรูมันนี่ และกรณีแอบอ้างเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขอยืมเงินค่ารถเพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งอาจไม่ได้เป็นการแอบอ้างเพื่อหลอกเอาทรัพย์สิน แต่อาจเป็นการทำขึ้นเพื่อสร้างคอนเทนต์ปลอม หวังเอายอดไลก์ยอดวิวของผู้ไม่หวังดี”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนว่า การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น เพื่อหลอกยืมเงิน หรือสร้างคอนเทนต์ปลอมเพื่อหวังเอายอดไลก์ ยอดวิว จะเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายดังนี้ กรณี การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น แล้วส่งข้อความเพื่อหลอกยืมเงิน คือ ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ,ฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากพบเห็นบุคคลหรือบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ใด แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น เพื่อขอยืมเงินหรือหลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์สิน กรุณาแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดไปที่ สายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผงะ! สูญวันละ 80 ล้าน สถิติเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์  ‘ผู้หญิงวัยทำงาน’ เยอะสุด

จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในห้วงวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2567 พบว่ามีการแจ้งความผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด 575,507 เรื่อง