'ตำรวจ' แนะ 5 ข้อรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตร. เตือนระวังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกให้ตกใจ สูญเงินในพริบตา

28 ต.ค. 2564 - พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น ที่ผ่านมาพบว่าได้มีกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์จากธนาคาร หรือแสดงตนเป็นข้าราชการระดับสูง หรือนายตำรวจระดับสูง โทรศัพท์หาผู้เสียหาย อ้างว่า บัญชีธนาคารถูกอายัด หรือบัญชีธนาคารของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น พัวพันกับการจำหน่ายยาเสพติด การค้าของผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ ฯลฯ จากนั้นจะให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยโอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ โดยข่มขู่ว่าหากไม่โอนเงินมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จะถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินและความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ทำให้ผู้เสียหายบางคนตกใจหลงเชื่อและพยายามแสดงความบริสุทธิ์ โดยโอนเงินให้กับคนร้าย จากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ได้ ทำให้ได้รับความเสียหาย

โดยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ได้แถลงข่าวการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ได้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว โดยได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 8 ราย สามารถจับกุมได้แล้ว 5 ราย ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความเสียหายมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนกับพี่น้องประชาชนว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องให้เจ้าของบัญชีธนาคารโอนเงินมาให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งหากเป็นบัญชีธนาคารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจตามกฎหมายทำการตรวจสอบข้อมูลกับธนาคารหรืออายัดเงินในบัญชีธนาคารดังกล่าว

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนว่า หากได้รับโทรศัพท์แอบอ้างในลักษณะดังกล่าว ควรปฏิบัติดังนี้ 1.ตั้งสติ อย่าตกใจ และอย่าหลงเชื่อ 2.สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นให้แน่ชัด และสำรวจว่าตนเองมีความเกี่ยวพันกับเรื่องที่คนร้ายโทรมาหลอกลวงหรือไม่ 3.อย่าดำเนินการใด ๆ โดยแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง และรีบวางสายสนทนา 4.ตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารหรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง โดยติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานนั้นๆ และ 5. หากมีผู้ใดโทรมาสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้คิดไว้เสมอว่าอาจจะเป็นพวกมิจฉาชีพ และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ อย่างเด็ดขาด หากพี่น้องประชาชนพบว่า มีบุคคลอ้างว่าเป็นธนาคาร หรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ขอให้ท่านโอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กต่อ' สั่งนครบาลสอบด่วน! ป้ายซื้อขายพาสปอร์ต ผิดจริงฟันแน่

'ผบ.ตร.' สั่งตรวจสอบที่มาของป้ายโฆษณาภาษาจีน รับทำหนังสือเดินทาง-ขอสัญชาติต่างๆ กำชับ สตม. ตรวจสอบ คัดกรองคนต่างด้าว เจอกระทำผิดฟันตามกฎหมายทุกมิติ