กรมบัญชีกลางปรับลดอัตราค่ารักษาพยาบาลโควิด 19 ให้สอดคล้องกับต้นทุนในปัจจุบัน เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า
8 มี.ค. 2565 – นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันการบริหารจัดการของทรัพยากรที่ใช้เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 มีความพร้อมมากขึ้น ประกอบกับผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ส่งผลให้ต้นทุนต่างๆ ในการรักษาพยาบาลปรับราคาลดลง กรมบัญชีกลางจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 เพื่อให้สอดคล้องกับบริการและต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งช่วยลดงบประมาณร่ายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ยังคงประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยตามเดิม โดยมีการปรับปรุงรายละเอียด ดังนี้
ประเภทผู้ป่วยนอก
1.การตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด 19
1.1 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real Time PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท
1.2 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real Time PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ ประเภท 3 ยีนขึ้นไป ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท
1.3 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Chromatography ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 250 บาท จากเดิม 300 บาท
1.4 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Fluorescent Immuunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 350 บาท จากเดิม 400 บาท
1.5 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจาก 1.3 – 1.4 ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 350 บาท จากเดิม 400 บาท
2.การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ที่ชุมชนจัดไว้ (Community Isolation) หรือสถานที่อื่นของสถานพยาบาลของทางราชการ
2.1 ค่าบริการของสถานพยาบาลและการดูแลผู้ป่วย ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน
2.2 ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วย ค่ายา ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,000 บาทต่อราย
ประเภทผู้ป่วยใน
ค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษาผู้ป่วยใน
1.1 ผู้ป่วยอาการสีเขียว กรณีไม่ใช้ Oxygen ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท จากเดิม 1,500 บาท (กรณีที่ไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลที่บ้านหรือสถานที่ที่ชุมชนจัดไว้ได้
1.2 ผู้ป่วยอาการสีเหลือง
– กรณีใช้ Oxygen Canula เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน
– กรณีใช้ Oxygen High Flow เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน
1.3 ผู้ป่วยอาการสีแดง กรณีใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน (อัตราเดิม)
ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
2.1 ผู้ป่วยอาการสีเขียว ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน (อัตราเดิม)
2.2 ผู้ป่วยอาการสีเหลือง
– กรณีใช้ Oxygen Canula เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาทต่อชุด (เดิม 600 บาทต่อชุด) ไม่เกิน 5 ชุดต่อวัน
– กรณีใช้ Oxygen High Flow เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาทต่อชุด (เดิม 600 บาทต่อชุด) ไม่เกิน 10 ชุดต่อวัน
2.3 ผู้ป่วยอาการสีแดง
– กรณีใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาทต่อชุด (เดิม 600 บาทต่อชุด) ไม่เกิน 20 ชุดต่อวัน (เดิม 30 ชุดต่อวัน)
“สำหรับหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 157 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6854 4441 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ