7 มี.ค. 2565 – เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,162 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,986 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 20,784 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 202 ราย มาจากเรือนจำ 74 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 102 ราย เป็นผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก 24,236 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 45,398 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,047,857 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 23,159 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,794,098 ราย อยู่ระหว่างรักษา 230,459 ราย อาการหนัก 1,148 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 375 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 65 ราย เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในระลอกนี้ โดยเป็นชาย 34 ราย หญิง 31 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 55 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,300 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 446,612,251 ราย เสียชีวิตสะสม 6,019,441 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 7 มี.ค. ประกอบด้วย กทม. 2,803 ราย นครศรีธรรมราช 1,042 ราย สมุทรปราการ 872 ราย ชลบุรี 784 ราย นนทบุรี 723 ราย สมุทรสาคร 659 นาย นครราชสีมา 614 ราย ภูเก็ต 592 ราย นครปฐม 589 ราย พระนครศรีอยุธยา 567 ราย ทั้งนี้ พบคลัสเตอร์ใหม่ในกทม. คือ คลัสเตอร์ก่อสร้างที่เขตคลองสามวา ส่วน 5 เขต ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในกทม. ได้แก่ หลักสี่ บางซื่อ หนองแขม วัฒนา และดินแดง นอกจากนี้ ยังให้มีการเฝ้าระวังจังหวัดชายแดน จ.ตากและสระแก้ว เนื่องจากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะมีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามา จึงให้ ศปม. และประชาชนในพื้นที่เป็นหูเป็นตา คัดกรอง ตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด
พญ.สุมนี กล่าวว่า ในส่วน 10 จังหวัด ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ปอดอักเสบสูงสุด ได้แก่ กทม. 182 ราย สมุทรปราการ 75 ราย นนทบุรี 52 ราย ภูเก็ต 46 ราย นครศรีธรรมราช 46 ราย ชลบุรี 42 ราย สุราษฎร์ธานี 41 ราย กาญจนบุรี 41 นครราชสีมา 34 ราย เชียงใหม่ 34 ราย สำหรับสถานการณ์การครองเตียงของผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 23.33% ส่วนอัตราครองเตียงของผู้ป่วยทั่วประเทศอยู่ที่ 57.8% แบ่งเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลือง 15.1% เหลืองเข้ม 25.1% สีแดง 25% อย่างไรก็ตาม โรคที่พบร่วมกับผู้เสียชีวิตในช่วงนี้ ได้แก่ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคไตวายเรื้อรัง ภาวะติดเตียง และโรคอ้วน ซึ่งเจอมากกว่าโรคอื่นๆ
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่จะต้องมีการกลับไปทำกิจกรรมร่วมกัน ขอให้คนในครอบครัวพาผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเสี่ยง และเด็กเล็กซึ่งมีตัวเลขชีวิตมากขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกันและยังไม่ได้รับวัคซีน ไปฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กปิดเทอม สถานที่เสี่ยงหลักคือ ตู้เกม จึงขอให้ผู้ปกครองไปตรวจตราดูว่าเป็นสถานที่ปิด มีความแออัดหรือไม่ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากติดเชื้อจะมีอาการมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งหากไปทำกิจกรรมที่ไหนมา ขอให้สังเกตอาการทางเดินหายใจ หากมีน้ำมูก ไอ ให้สุ่มตรวจด้วย ATK ทันที
พญ.สุมนี กล่าวว่า ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะเป็นช่วงหยุดยาวหลายวันตั้งแต่วันพุธที่ 13 – 15 เม.ย. และติดเสาร์-อาทิตย์อีกรวมแล้วอย่างน้อย 5 วัน ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอมาตรการป้องกันควบคุมโรคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต่อที่ประชุม ศปก.ศบค. และ อีโอซี กระทรวงสาธารณสุข โดยมีประเด็นที่สำคัญเนื่องในวันหยุดยาวเราต้องประเมินว่ามีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 จากกิจกรรมใดบ้าง ได้แก่ การเดินทางกลับภูมิลำเนา การรวมตัวของญาติพี่น้อง การพบปะสังสรรค์ การรับประทานอาหารร่วมกันและมีการทำกิจกรรมในช่วงวันสงกรานต์ ทั้งรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สาดน้ำประแป้ง กิจกรรมรื่นเริงต่างๆ สถานที่ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงสงกรานต์นี้มีตั้งแต่ขนส่งสาธารณะ สถานีขนส่ง ทั้งเครื่องบิน รถโดยสาร รถตู้ รถประจำทาง ปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ นอกจากนี้ สถานที่เสี่ยงที่สำคัญยังมีที่บ้าน ร้านอาหาร ศาสนสถาน วัด หรือที่ที่ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือสถานที่ท่องเที่ยว ในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ โรงแรมห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์
โดยในที่ประชุมมีการพูดคุยว่าในช่วงสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ไม่ได้มีการงด การกัก การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัย ได้แก่ มาตรการหลัก คือ V U C A คือ วัคซีน มาตรการส่วนบุคคลแบบครอบจักรวาล โควิดฟรีเซ็ตติ้ง สุ่มตรวจด้วย ATK ทั้งก่อนเดินทางไปและกลับจากต่างจังหวัด เมื่อกรมอนามัยได้นำเสนอแล้ว ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยเพิ่มเติม เนื่องจากการพิจารณามาตรการในช่วงสงกรานต์ที่เป็นวันหยุดยาวนั้นมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีการพูดคุยเพื่อที่จะได้นำข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องพิจารณามาตรการไปพร้อมกับสถานการณ์ในช่วงนี้เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ที่ จะมีขึ้นในวันที่ 18 มี.ค.นี้ โดยที่เรื่องเกี่ยวกับมาตรการของช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น จะต้องพิจารณาจากหน่วยงานทั้งหมดหกหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่