4มี.ค.65-นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณสายที่โทร.เข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 ยังมีปริมาณมาก ทั้งในระบบสายด่วน และระบบ Non Voice (ไลน์และเฟสบุ๊ก สปสช.) แต่ละวันยังคงอยู่ที่ระดับ 60,000-70,000 สาย ที่ผ่านมา สปสช.ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสา รวมถึงระดมกำลังบุคลากร สปสช.จากส่วนงานอื่นมาช่วยรับสาย และล่าสุด วานนี้ (3 มี.ค.65) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ได้มอบหมายให้สายด่วนของแต่ละกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาสนับสนุนการทำงานของ สายด่วน 1330 รับเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อประสานเข้าสู่ระบบการรักษา ทั้งแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ หรือระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ต่อไป ซึ่งก็ช่วยทำให้ลดจำนวนสายที่ไม่ได้รับการตอบกลับลงได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขปรับแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รูปแบบใหม่ คือ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านกับสายด่วน 1330 รวมถึงช่องทางไลน์และเว็บไซต์ สปสช. หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้ดูแลตัวเองเบื้องต้นไปตามอาการ หากมีไข้หรือไอ กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาหรือใกล้บ้าน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบ กทม. ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค เพิ่มศักยภาพให้การดูแลแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ให้เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป รองรับบริการได้ประมาณ 18,650 รายต่อวัน
ทั้งนี้แนะนำให้ โทร.นัดหมายก่อน เพื่อเข้าระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ได้ และกลับมากักตัวที่บ้านอีก 7-10 วัน ตามที่แพทย์แนะนำ โดยแต่ละกองทุนสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง จะตามจ่ายให้กับผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไปได้ที่หน่วยปฐมภูมิทุกที่ ไม่ใช้ใบส่งตัว หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น สิทธิประกันสังคม เข้ารับบริการ รพ.ตามสิทธิที่ลงทะเบียนหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม., รพ.สต. ฯลฯ สิทธิข้าราชการ ไป รพ.หรือสถานพยาบาลภาครัฐ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ หรือประชาชนที่ตรวจ ATK 2 ครั้งแล้วขึ้น 2 ขีด นั้น หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และ 3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป กลุ่มนี้ให้โทร.มาที่ สายด่วน 1330 กด 14 เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นและเข้ารักษาตามระบบต่อไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง
แต่หากไม่ใช่กลุ่ม 608 และไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย รักษาตามอาการและกักตัวอยู่ที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องแจ้งภาครัฐหรือ โทร.1330 ทุกราย เนื่องจากรักษาตามอาการได้ตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่นกัน แต่หากต้องการรักษาตามแนวทางเจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถไปสถานพยาบาลตามสิทธิ-ใกล้บ้านได้เช่นกัน แนะนำโทร.นัดหมายก่อน หรือยืนยันต้องการลงทะเบียนรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ลงทะเบียนที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 ได้เช่นกัน