'หมอธีระ' ห่วงโควิดเพิ่ม 'Long COVID' พุ่ง แนะภาคประชาสังคมตั้งกลุ่มดูแลกัน

21 ก.พ. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 424 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,218,065 คน ตายเพิ่ม 5,201 คน รวมแล้วติดไปรวม 424,790,451 คน เสียชีวิตรวม 5,905,759 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เกาหลีใต้ เยอรมัน ญี่ปุ่น และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.79 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 96.26

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 44.99 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 32.6 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

…ล่าสุดยุโรป∼เอเชีย…

ตอนนี้จำนวนติดเชื้อใหม่และจำนวนเสียชีวิตรายวันของทวีปยุโรปนั้นพอๆ กับเอเชียแล้ว ต่างกันตรงที่ยุโรปขาลง ส่วนเอเชียหลายประเทศยังเป็นขาขึ้น ทั้งนี้สถิติรายสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ามีถึง 14 ประเทศในเอเชียที่มีจำนวนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า สวนกระแสโลก

ในขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ก็พอๆ กัน เป็นขาลงที่ชัดเจน เฉกเช่นเดียวกับทวีปอื่น

…ไทยเรา…

ยอดติดเชื้อใหม่เมื่อวานนี้ หากรวม ATK จะอยู่ที่อันดับ 12 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย

อัตราติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ “เพิ่มขึ้น” 27% ตาย “เพิ่มขึ้น” 29% โดยที่ค่าเฉลี่ยของโลกนั้น ติดเชื้อใหม่ “ลดลง” 21% ตาย “ลดลง” 10% และของทวีปเอเชีย ติดเชื้อใหม่ “ลดลง” 7% ตาย “ลดลง” 11%

…โควิด-19 กับเรื่อง Long COVID

ด้วยจำนวนเคสที่มากขึ้นราวเกือบสามหมื่นคนต่อวันเช่นนี้ (รวม ATK) จะใช้เวลาเพียง 1 เดือน ไทยเราจะมีเคสติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 1,000,000 คน หากไม่มีนโยบายควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยับยั้นการติดเชื้อแพร่เชื้อ

ในระยะยาว อาจมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหาภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID จำนวนมากที่ต้องการระบบบริการดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพ และให้คำปรึกษา เพราะจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตการทำงาน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นมิได้เกิดเฉพาะด้านร่างกาย อาทิ ความคิดความจำ หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ต่อมไร้ท่อ ผิวหนัง เท่านั้น แต่ยังเกิดต่อภาวะจิตใจ ทั้งเรื่องเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ปัญหาการควบคุมอารมณ์ และอื่นๆ

ภายใต้การดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการระบาดยังเป็นไปอย่างรุนแรงเช่นนี้ คำถามที่ควรใคร่ครวญให้ดีคือ เม็ดเงินที่ได้มาจะคุ้มค่ากับผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาวที่เกิดจากการสูญเสียสุขภาพกายและใจของประชาชน รวมถึงการสูญเสียสมรรถนะการทำงานอันมีผลต่อผลิตภาพโดยรวม และค่าใช้จ่ายที่บุคคล ครอบครัว และสังคมต้องแบกรับในอนาคตหรือไม่

การทำ Cost benefit analysis เพื่อนำข้อมูลการประเมินความคุ้มค่าเมื่อเทียบกันเป็นเม็ดเงินเข้ามาสู่สมการความคิดในการตัดสินใจทิศทางนโยบายของประเทศน่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำ

เหนืออื่นใด สิ่งที่ต้องทำ และรอไม่ได้คือ การจัดระบบบริการดูแลรักษา ฟื้นฟู และให้คำปรึกษาเรื่อง Long COVID ทั้งในระบบบริการสาธารณสุข รวมถึงสถานที่ทำงานต่างๆ

นอกจากนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากรอหน่วยงานรัฐดำเนินการอย่างเดียวคงไม่พอ ทางภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อและมีปัญหา Long COVD อาจต้องรวมกลุ่มกัน เป็น Self help group/network เพื่อช่วยเหลือ ประคับประคอง และดำเนินการเป็นกลไกทางสังคมที่จะเชื่อมต่อกับกลไกรัฐ เพื่อพัฒนาระบบบริการข้างต้นให้ตรงกับความต้องการ และมีประสิทธิภาพ เฉกเช่นเดียวกับกระบวนการทางสังคมที่เราเคยทำมาในเรื่อง HIV/AIDS ที่ทำให้งานควบคุมป้องกันและดูแลมีประสิทธิภาพตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา

การระบาดของไทยยังรุนแรง ขอให้ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform

'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง

'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล