'หมอนิธิพัฒน์' ชี้โควิด-19 มีขึ้นมีลง ยังต้องจับตาใกล้ชิดต่อ ชี้เดือนนี้เตียงฝืดเข้าแทนเตียงเฟ้อ ข้องใจวัยรุ่นโลกเมินฉีดวัคซีน แต่ไทยฉีดเยอะปัจจัยหลักจากผู้ปกครอง
16 ก.พ.2565 - รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชา โรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องโควิด-19 ว่ามีขึ้นมีลงตามกลไกตลาด? หลังจากลงมาสามวัน นิวไฮใหม่ก็มาแล้ว ยังดีที่ยอดผู้ป่วยอาการหนักลดลง 3 คน โดยยอดผู้เสียชีวิตคงที่ ยังคงต้องจับตากันใกล้ชิดต่อไป
ที่บ้านริมน้ำเริ่มมีผู้ป่วยโควิดตกค้างที่ห้องฉุกเฉินมากขึ้น ส่วนใหญ่อาการไม่หนักแต่ต้องรอสถานที่ส่งต่อ ส่วนพวกที่หนักก็มักจะเป็นจากโรคพื้นฐานเอง หนักจากโควิดพบเป็นส่วนน้อย ภาวะเตียงฝืดเข้ามาแทนเตียงเฟ้อของเมื่อเดือนที่แล้วโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่สามารถอัดฉีดเม็ดเงิน (เตียง) เข้าสู่ระบบได้ คงไม่ต่างกับเงินในกระเป๋าของรัฐบาลตอนนี้ ช่วยกันชะลอโรคไปก่อน รับรองว่าเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายแน่
ในยามสิ้นไร้ไม้ตอกท้อแท้หดหู่ การยิงประตูคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีกลูกเดียว ก็เหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ คล้ายความรู้สึกของบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเห็นผู้ป่วยโควิดในความดูแลดีขึ้นคนแล้วคนเล่า แม้จะยังมีคนใหม่ป่วยเข้ามาต่อเนื่องไม่ยอมหยุด เช้ามืดนี้ทีมปิศาจแดงล้างอาถรรพ์สามนัดติด ที่ยิงหนึ่งลูกในครึ่งแรกแล้วถูกตีเสมอในครึ่งหลังตลอด ครั้งนี้ปลดล็อคได้หวังว่างานหนักอาทิตย์หน้าจะยังคงรักษาฟอร์มนี้ไว้ได้ แต่ทีมคู่แข่งร่วมเมืองเขาดีจริงสมราคาคุย ถล่มคู่แข่งแบบคลีนชีตในถ้วยใหญ่อย่างไร้ข้อสงสัย
มีทีมวิจัยที่รวบรวมข้อมูลรายงานการระบาดของโควิดในโรงเรียนอย่างเป็นทางการ จาก 35 แห่งทั่วโลก พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่เชื้อในโรงเรียนที่สำคัญคือ การระบาดมากในชุมชน โดยเพิ่มความเสี่ยงขึ้นมา 1.11 - 2.72 เท่า ในทางตรงข้าม มาตรการรักษาระยะห่างในโรงเรียนร่วมกับการใส่หน้ากาก จะช่วยลดการแพร่เชื้อลงได้ 0.25 เท่า และการที่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนกันเยอะ จะช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดลงได้ 0.57 เท่า โดยจะเห็นผลในเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก (0.47 เท่าเทียบกับ 0.90 เท่า) ดังนั้นการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนทุกวัยล้วนมีความสำคัญ แต่การฉีดในช่วงวัยรุ่นจะช่วยลดการแพร่ระบาดในโรงเรียนได้ดีกว่า ส่วนในเด็กเล็กต้องมีมาตรการอื่นในโรงเรียนเสริมจากการฉีดวัคซีนด้วย https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1111/irv.12968
ที่น่าสนใจต่อไปคือ ทำไมวัยรุ่นบางส่วนจึงยังลังเลการเข้ารับวัคซีนโควิด ข้อมูลจากการสำรวจออนไลน์ในประเทศฮ่องกง จากวัยรุ่นกลุ่มตัวอย่าง 2,609 คน พบว่ามีเพียง 39% เท่านั้นที่ตั้งใจจะเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยไม่ลังเล เป็นผลจากการพบเห็นสมาชิกในครอบครัวป่วยจากโควิด โดยเฉพาะกรณีที่เป็นพ่อหรือแม่ด้วย ส่วนข้อกังวลที่พบส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความสงสัยในประสิทธิภาพของวัคซีนและผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต่างกับนักเรียนวัย 12-17 ปีในบ้านเรา ที่ยอมรับการฉีดวัคซีนโควิดสูงถึงเกือบ 80% https://www.ncbi.nlm.nih.gov/.../PMC8752287/pdf/main.pdf
ที่บ้านเรายอมรับเยอะอาจเป็นผลมาจากผู้ปกครองเป็นหลักก็ได้ การศึกษาในกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนวัยรุ่นจำนวน 13,327 คนในประเทศจีน พบมี 13.5% ที่ปฏิเสธการรับวัคซีน และราว 4% ไม่แน่ใจแต่ก็ยังให้ลูกหลานรับวัคซีน ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิเสธวัคซีน คือ ผู้ปกครองที่เป็นโสด และการมีฐานะดีมากหรือไม่ก็จนมาก ส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมการยอมรับวัคซีน คือ การได้รับข้อมูลเรื่องวัคซีนจากอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน การไม่เชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด และประสบการณ์ตรงของผู้ปกครองเองในการฉีดวัคซีน https://www.ncbi.nlm.nih.gov/.../PMC8654519/pdf/main.pdf
ขอให้วันเพ็ญแห่งเดือนมาฆะ เป็นหมุดหมายการเริ่มสงบลงของโควิดโอไมครอนด้วยเถิด #เดินหน้าต่อไปไม่หวั่นไหวโควิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 557 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา
‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'
หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform
'หมอยง' หวนระลึกโควิด19 ปีที่สองของการระบาด!
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018
การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้