15 ก.พ.65-ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ แนวทางอัตราจ่าย และกำหนดวันบังคับใช้การจ่ายชดเชยบริการโรคโควิด-19 พร้อมทั้งมีมติรับทราบกลไกการจ่ายเงินรายวันได้ ผ่านทางธนาคารด้วยระบบออนไลน์ ได้เป็นรายวัน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามข้อ 14 (2) แห่งระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ. 2555 เสนอโดย นางดวงตา ตันโช ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน
สำหรับการปรับหลักเกณฑ์นี้เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีนโยบายการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มากด้วยระบบการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน รวมถึงการตรวจคัดกรองโควิดด้วยชุดตรวจ ATK เป็นวิธีแรก (HI – CI – ATK first) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ และเป็นการลดภาระงบประมาณ ภาระงานด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงการประชุมหารือร่วมระหว่าง 4 กองทุนภาครัฐ ที่เห็นชอบในหลักการจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 (กลุ่มอาการสีเขียว) ที่รักษาในโรงพยาบาล, HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel ทั้งในหน่วยบริการในระบบ และกรณีการเข้ารับบริการในระบบเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด (UCEP COVID) เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตราเดียวกัน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การปรับหลักเกณฑ์และแนวทางอัตราจ่ายใหม่นี้ มีทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ 1.การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยกรณีดูแลรักษาผู้ป่วยอาการสีเขียว จะจ่ายชดเชยเช่นเดียวกับบริการ HI/CI ไม่ว่าจะเป็นการรักษาในโรงพยาบาล (ไม่จ่าย DRGs) รวมถึงการรักษานอกโรงพยาบาล เช่น HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel โดยกำหนดอัตราการจ่ายแบบเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 ราย รวมค่าอาหาร อยู่ที่ 12,000 บาท สำหรับการรักษา 7 วันขึ้นไป และ 6,000 บาทสำหรับการรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน ส่วนกรณีไม่รวมค่าอาหารจะเหมาจ่ายที่ 8,000 บาท และ 4,000 บาทตามลำดับ
- การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการติดเชื้อโควิด-19 โดยวิธีตรวจ ATK โดยผู้เชี่ยวชาญ (ATK Professional) จะปรับอัตราจ่ายให้เหมาะสมกับราคาในปัจจุบัน และสอดรับนโยบาย ATK First และอ้างอิงราคาตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยแบบ Chromatography จะจ่ายที่ 250 บาท จากเดิม 300 บาท และแบบ FIA จะจ่ายที่ 350 บาท จากเดิม 400 บาท ขณะที่การตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ประเภท 2 ยีน จะปรับการจ่ายเป็น 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท ส่วนประเภท 3 ยีน จ่ายเป็น 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท
- อัตราจ่ายค่าห้องสำหรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ได้ปรับอัตราจ่ายค่าห้องที่ดูแลการรักษา โดยแบ่งระดับเตียงใหม่ตามความรุนแรงของโรคเพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม ตามที่กรมการแพทย์กำหนดเป็น 5 ระดับ และปรับลดอัตราจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จากเดิมชุดละ 600 บาท เหลือ 550 บาท สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยสีเหลือง/แดง และลดจำนวนชุดที่ใช้ต่อวันของเตียงระดับอาการรุนแรง ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าไปดูผู้ป่วยครั้งละหลายคน
- การสนับสนุนชุดตรวจ ATK-self test สำหรับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ โดย สปสช.จะเป็นกลไกกลางในการประสานผู้จำหน่าย โดยเฉพาะผู้จำหน่ายที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมในการกระจายชุดตรวจให้หน่วยบริการเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และจำนวนตามความต้องการของหน่วยบริการ ส่วนหน่วยบริการที่เข้าร่วม ได้แก่ ร้านยา คลินิกการพยาบาลฯ คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นที่สนใจ จะได้รับค่าใช้จ่ายเป็นเงินในอัตรา 55 บาทต่อชุดตรวจ สำหรับเป็นค่าชุดตรวจและค่าบริการให้คำแนะนำการตรวจ ATK การอ่านผล และการปฏิบัติตัวของประชาชน
- อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ-ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น ซึ่งเป็นการจ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่ายต่อวัน ในอัตรา 1,900 บาทต่อวัน กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น เช่น TAXI เสริมหรือทดแทนการใช้รถพยาบาล (Ambulance) ของโรงพยาบาล โดยต้องมีระบบที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่ถูกหลักวิชาการ เพื่อแบ่งเบาภาระงาน และเป็นทางเลือกของหน่วยบริการในการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของแนวทางการจ่ายค่าบริการฯ กรณีการสนับสนุน ATK Self test และบริการรับ-ส่งต่อใช้รถโดยสารประเภทอื่น สปสช.จะกำหนดกลไกการจ่ายเงินรายวัน ผ่านทางธนาคารด้วยระบบ online เป็นรายวันได้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามข้อ 14 (2) แห่งระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2555 ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการจ่ายเงินกองทุนให้แก่หน่วยบริการ
นพ.จเด็จ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอการปรับอัตราจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 รายการ 1. บริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว 2. บริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันโควิด-19 ด้วย ATK Professional และ RT-PCR และ 3. อัตราจ่ายค่าห้อง สำหรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ได้กำหนดวันบังคับใช้ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เนื่องจากจะดำเนินการพร้อมกับกองทุนประกันสุขภาพอื่น ขณะที่รายการ 4. การสนับสนุนชุดตรวจ ATK Self test สำหรับประชาชนคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และ 5. อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ – ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น เช่น TAXI จะมีผลทันทีหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'
ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย
รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย