อาจารย์หมอจุฬาฯ จับตาจุดพีกระบาด ‘โอมิครอน’ ในไทย 27 ก.พ.นี้

13 ก.พ.2565-รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อเช้ามีคำถามในใจว่า ตอนนี้ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้นผ่านพีคของ Omicron มาแล้ว เค้าใช้เวลามากน้อยแค่ไหนที่จะถึงพีคของการระบาด? เลยลองรวบรวมข้อมูล โดยพิจารณาจำนวนติดเชื้อต่อวันเฉลี่ยรายสัปดาห์ (7-day moving average) ของ 30 ประเทศแรกที่มีจำนวนติดเชื้อสูงสุดของโลก

ในจำนวนนี้มีบางส่วนที่ยังไม่ถึงพีค หรือยังไม่อยู่ในขาลง จึงไม่นำมาพิจารณา โดยมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มประเทศที่ผ่านพีคมาแล้ว เพื่อจะได้มาใช้คาดการณ์ว่าไทยเราซึ่งตอนนี้กำลังขาขึ้น จะมีโอกาสพีคตอนไหนหากดูจากธรรมชาติของโรคของทั่วโลก

คำตอบคือในภาพรวมของโลก จะใช้เวลาขึ้นสู่พีคราว 37 วัน แต่อาจมีความแตกต่างระหว่างบริบทของประเทศสูง แต่หากพิจารณาเฉพาะในกลุ่ม 30 ประเทศแรกที่ไทยอยู่ มี 22 ประเทศที่ดูจะผ่านพีคมาแล้ว โดยมีค่ามัธยฐานของเวลาสู่พีคอยู่ที่ 24 วัน และมีค่าเฉลี่ยประมาณ 25.8 ± 6.8 วัน หากไทยดำเนินไปแบบประเทศอื่นๆ และนับจุดเริ่มอยู่ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงขาขึ้นชัดเจน พีคของเราอาจอยู่ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 หรือเบี่ยงเบนกว่านั้นราวหนึ่งสัปดาห์

สถานการณ์จริงนั้นจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะมีปัจจัยอื่นที่จะมีอิทธิพลต่อการระบาดได้มาก เช่น พฤติกรรมป้องกันในช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งของแต่ละคนและของกิจการร้านค้าต่างๆ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขึ้นอยู่กับพวกเราในประเทศที่จะช่วยกันป้องกันตนเอง ดูแลลูกหลานและผู้สูงอายุ และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียน หยุดงาน ตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform