'หมอธีระ' ชี้เคสภูทับเบิกสะท้อนโควิดไทยยังน่าห่วง

“รศ.นพ.ธีระ” เผยโควิดไทยยังน่าห่วง โดยเฉพาะกรณีภูทับเบิกสะท้อนชัดการใช้ชีวิตประจำวันยังเสี่ยงสูง ย้ำสถานการณ์ระบาดไทยไม่โอเค เพราะสถิติติดเชื้อรายสัปดาห์ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 

21 ต.ค.2564 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 442,391 คน ตายเพิ่ม 7,250 คน รวมแล้วติดไปรวม 242,758,252 คน เสียชีวิตรวม 4,936,663 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย ตุรกี และยูเครน จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.16 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.65

...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 8,918 คน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก แต่หากรวม ATK อีก 3,178 คน จะเขยิบเป็นอันดับ 10 ของโลก และไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำนวนการเสียชีวิต เมื่อวาน 79 คน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก

...บทเรียนจากภูทับเบิก ล่าสุดหมู่ 14 และ 16 ติดเชื้อกันไปแล้วถึง 303 คน เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากคนเดินทางจากกรุงเทพไปร่วมงานศพ และเกิดการแพร่กันมากมาย จนทำให้ข่าวออกมาเมื่อวานนี้ที่ต้องปิดรีสอร์ทและโรงแรมในพื้นที่แถวนั้นด้วย

เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นล้วนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะไปงานศพ งานเลี้ยง พบปะญาติพี่น้อง หรือท่องเที่ยว การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ

ประเทศไทยนั้นยังมีการระบาดที่รุนแรงติดลำดับต้นๆ ของโลกมาตลอด กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถควบคุมได้ การใส่หน้ากาก เจอคนน้อยๆ สั้นๆ ห่างๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก

...สถิติจาก WHO Weekly Epidemiological Report รายงานออกมาวันที่ 19 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง 4% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มรายสัปดาห์ลดลง 2% ถ้าดูในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 13% จำนวนเสียชีวิตลดลด 19% แต่...ไทยเรานั้น จำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ (ยังไม่รวม ATK) ลดลงเพียง 2.6% และจำนวนเสียชีวิตลดลงเพียง 7%

จะเห็นได้ว่า สถิติของไทยเรามีจำนวนติดเชื้อรายสัปดาห์ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตนั้นก็ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน นี่คือข้อมูลที่ย้ำเตือนเราว่า สถานการณ์ระบาดนั้นไม่โอเค

...อัพเดตเกี่ยวกับเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ที่เป็นที่กังวล (Variants of Concern: VOC) องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนข้อมูลวิชาการ และอัพเดตเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่า หนึ่ง ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเดลตานั้นทำให้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่โอกาสป่วยรุนแรง น่าจะไม่ต่างจากอัลฟา สอง เดลตานั้นชัดเจนว่ามีผลทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา ประชาชนควรติดตามความรู้เกี่ยวกับไวรัสนี้ไป เพื่อให้รู้เท่าทัน และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในเรื่องต่างๆ อย่างเหมาะสม ด้วยรักและห่วงใย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ

ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science”  ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน 

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform