'หมออุดม' ชี้โควิดยังพุ่งอีก สกัดทะลุ 2 หมื่น เตรียมใจสู่โรคประจำถิ่น

‘หมออุดม’ คาดสิ้นเดือนนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 1.7 – 1.8 หมื่นราย วอนช่วยกันอย่าให้ทะลุ 2 หมื่น ขอผู้ปกครองอย่ากังวลพาเด็กฉีดวัคซีนเชื้อตาย เตรียมใจเปลี่ยนผ่านโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

11 ก.พ.2565 – ที่ทำเนียบรัฐบาล ศ.นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อในขณะนี้ที่สูงขึ้นว่า ยังอยู่ในความคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เคยจัดทำเป็นกราฟ สีเขียว สีส้ม สีดำ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างกำลังจะขึ้นไปแตะตรงกลางของสีส้มแล้ว ขณะนี้ติดเชื้อประมาณ 15,000 คน คาดว่าปลายเดือนนี้น่าจะขึ้นไปถึง 17,000 – 18,000 คน และหวังว่าจะไม่ถึง 20,000 คน ดังนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนจะต้องช่วยกัน

ทั้งนี้ต้องบอกกันตรงๆ ว่าทุกคนอึดอัดมา 2 ปี ก็อยากผ่อนคลายและต้องการให้เรื่องเศรษฐกิจเดินไปได้ จึงคิดว่ามีปัจจัยที่จะเอื้อ และดูแล้วก็พอไหว เพราะดูจากตัวเลขผู้เจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่มีคนที่เป็นปอดอักเสบในช่วงนั้นประมาณ 5,000 – 6,000คน แต่ตอนนี้เหลือ 500 คน คือลดลงไป 10 เท่า ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายในช่วงเวลานั้นก็ประมาณ 500 – 600 คน ตอนนี้เหลือประมาณ 110 คน ลดลงมาประมาณ 10 เท่า ตนคิดว่าเป็นข้อดีที่ไม่รุนแรง และอย่างน้อยเราสู้ไหวถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งขอยกประโยชน์ให้ 2 ประการ คือ คนไทยมีวินัยเยอะมาก ขอชื่นชม และขอให้ช่วยกันระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องการให้ตัวเลขทะลุไปถึง 20,000 คน เพราะถ้าถึง 20,000 คน เมื่อไหร่ บุคคลกรทางการแพทย์จะเหนื่อยมาก ตอนนี้ก็เริ่มล้าแล้ว

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า เรื่องที่สองที่อยากจะย้ำคือ เรื่องความสำคัญของวัคซีน ซึ่งทั่วโลกมีข้อมูลเหมือนกันว่าขณะนี้ให้เร่งฉีดเข็ม 3 เพราะวัคซีนตอนนี้เหลืออยู่แต่คนไปฉีดน้อย ซึ่งเข็ม 3 ช่วยป้องกันได้ จากเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งทุกยี่ห้อกันได้ 90 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกันหมด จึงขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ไปฉีดวัคซีน “ผมไม่อยากให้ประชาชนตระหนกว่าตอนนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้บอกว่าจะต้องขึ้นไปอีกนิดหน่อยแต่ไม่อยากให้ทะลุ 20,000 คน ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกคน”

ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวว่า ตอนนี้ความเป็นห่วงคือไม่อยากให้ตัวเลขเยอะเกินไป เพราะถ้าตัวเลขเยอะมากสัดส่วนของผู้ป่วยหนักที่ตอนนี้น้อยกว่าเดิม 10 เท่า มันก็จะสูงขึ้นเป็นไปตามอัตราส่วน ซึ่งขณะนี้เราสู้ไหว สบายๆ กำลังด้านสาธารณสุขเราเพียงพอมีกำลัง ระบบทุกอย่างเซ็ตไว้ดีหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น HI หรือ CI หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลตอนนี้เตียงเราเพียงพอ เรามีระบบพร้อมเรามีบทเรียน ฉะนั้นตรงนี้ไม่ต้องกังวล

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า ตอนนี้เราผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น ไม่มีการเพิ่มมาตรการใด ตนเองยังกลัวว่าประชาชนจะไม่เข้าใจว่าตัวเลขขึ้นแต่ทำไมรัฐบาลมาผ่อน แต่อย่างน้อยมาตรการยังอยู่เท่าเดิมจึงอยากให้ประชาชนมีความเข้าใจตรงนี้เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ไม่ไหว และต้องยอมรับว่าเราใช้งบประมาณไปเยอะมาก รัฐบาลทุ่มเงินให้ฟรีหมด ไม่มีประเทศไหนให้ฟรีมากเท่าประเทศเรา ตนคิดว่าตอนนี้เราต้องมาช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้

“เราต้องเตรียมใจเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดทั่วโลก ให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ ขณะเดียวกันยังต้องดูข้อมูลไปเรื่อยๆ ขอความร่วมมือช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เราจะไม่ทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า จะใช้เวลาเตรียมตัว ผมยังบอกกับสาธารณสุขว่าอีก 1-2 เดือน เราอาจจะต้องประกาศเช่นเดียวกับประเทศสวีเดนเหมือนกัน ที่เขาได้ประกาศว่าตอนนี้จะยกเลิกการให้งบประมาณอุดหนุนทุกอย่าง โดยเหตุผลหลัก คือไม่มีเงิน แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องเตรียมประชาชนให้ดี เพราะปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประชาชน ปัจจัยไม่ได้อยู่กับด้านสาธารณสุขแล้ว เพราะสาธารณสุขเราเพียงพอไม่มีปัญหา ดังนั้นต้องปรับไปตามบริบทโลก” ศ.นพ.อุดม ระบุ

นพ.อุดม กล่าวว่า ขอฝากเรื่องวัคซีนเด็ก ซึ่งขณะนี้ฉีดได้จำนวนน้อยมาก และผู้ปกครองมีความกังวลมากเหลือเกิน ซึ่งทางสธ.ได้ประกาศไปแล้วว่าขอให้มาฉีดไฟเซอร์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ยังฉีดได้น้อย คงเพราะผู้ปกครองมีความกังวลว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง เนื่องจากเป็นเชื้อ mRNA ซึ่งขณะนี้เรามีทางเลือกเพิ่มขึ้น คือ วัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม อย่างน้อยเราก็รู้ว่าผลข้างเคียงมีน้อยมากถึงแม้ว่าประสิทธิภาพอาจจะสู้ไม่ได้ แต่เมื่อไปถึงเข็ม 2 เข็ม 3 แล้วก็จะมาสู้ได้ โดยตอนนี้กำลังจะปรับเป็นสูตรไขว้ โดยกระทรวงสาธารุณสุขได้ประกาศแล้วว่าฉีดในเด็ก 12 ปีขึ้นไปก่อน แต่เด็กอายุต่ำกว่านั้นยังไม่ไขว้และในอนาคตก็คงต้องไขว้ เพราะต้องการให้ภูมิขึ้นเร็ว โดยเริ่มเข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 ไฟเซอร์ ภูมิจะขึ้นเร็วไม่ต้องรอนาน

ส่วนที่ขณะนี้ผู้ปกครองกังวลเรื่องไฟเซอร์วัคซีนหลักในเด็กถึงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ขอยืนยันตามที่มีข้อมูลล่าสุดที่เก็บมาจากทั่วโลกคือเกิดขึ้นจริงแต่เกิดน้อย กลุ่มที่เกิดเยอะที่สุดคือเด็กโต 16-18 ปี ในเด็กผู้ชายมากกว่าในเด็กผู้หญิง เกิดประมาณ 70 ต่อ 1 ล้าน เด็กผู้หญิง 16-18 ปี เกิดประมาณ 7 ต่อ 1 ล้าน พออายุต่ำลงมาประมาณอายุ 15-17 ปี เกิดประมาณ 4-5 ต่อ 1 ล้าน ขอให้ไปช่วยกันฉีด เพราะขณะนี้มักจะระบาดในเด็กเพราะในเด็กจะกระจายไปในหลายอวัยวะมากกว่าผู้ที่กระจายไปที่ปอดอย่างเดียว ดังนั้นขอให้ไปฉีดเพราะผลดีจะมากกว่าผลเสียแน่นอน ขออย่ากังวล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล