'หมอธีระ' ย้ำเตือนหาแผนรับมือ Long COVID

'หมอธีระ' ยกผลวิจัยต่างชาติเรื่อง Long COVID เตือนไทย เพราะเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพากำลังคนในการขับเคลื่อน ชี้อาการคงค้างมีสัดส่วนสูงถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อ

09 ก.พ.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าทะลุ 400 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,066,983 คน ตายเพิ่ม 10,819 คน รวมแล้วติดไปรวม 400,213,270 คน เสียชีวิตรวม 5,780,480 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน บราซิล รัสเซีย อเมริกา และตุรกี

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.55 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.52 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.68 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 32.15 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...ภาพรวมการระบาดโลก ตอนนี้ทวีปเอเชียมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันราวครึ่งหนึ่งของยุโรป แต่เอเชียสูงกว่าอเมริกาเหนือถึง 4 เท่า ทั้งนี้ยุโรปและอเมริกาเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียยังอยู่ในช่วงขาขึ้นและช่วงพีค และค่อนข้างชัดเจนว่าทวีปเอเชียจะเป็นทวีปท้ายที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของระลอก Omicron

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสสังคมโลก ที่หลายประเทศหันเหไปสู่การยอมเปิดเสรีการใช้ชีวิตเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจ ด้วยมุมมองระยะสั้นที่เห็นการติดเชื้อ Omicron ที่รุนแรงน้อยกว่าเดลตา ทำให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 3-6 เดือนถัดจากนี้ไปคือ จำนวนการติดเชื้อในแต่ละวันหลังผ่านพ้นพีคการระบาดไปนั้นน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าหางของระลอกเดลตา โดยมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อในกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วในสัดส่วนที่สูงขึ้น และจะพบกลุ่มติดเชื้อซ้ำมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ผลกระทบระยะยาวจากจำนวนติดเชื้อสะสมที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพากำลังคนในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนของการใช้ "แรงงาน" และที่ต้องใช้ "สมอง"
หลักฐานวิชาการชัดเจนว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่แค่ติดเชื้อ-ไปรักษา-หายขาด แต่กลับทำให้เกิดภาวะอาการคงค้างหรือ Long COVID ในสัดส่วนที่สูงถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเป็นได้ทุกเพศทุกวัย และทุกกลุ่มอาการ ตั้งแต่ไม่มีอาการ อาการน้อย และอาการรุนแรง

ผลที่เกิดขึ้น มีสมมติฐานทางการแพทย์ 2 ประการหลักที่อธิบายเรื่อง Long COVID ได้แก่ หนึ่ง การทำให้เกิดกระบวนการอักเสบอย่างต่อเนื่องในระบบอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ต่อมไร้ท่อ ฯลฯ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปกติระยะยาวจนกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงาน สอง การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง หรือเรียกว่า Auto-antibody ที่ทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของเซลล์ เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ ทั้งนี้มีการศึกษาตรวจพบไวรัสคงค้างในเซลล์อวัยวะต่างๆ เช่น เซลล์สมอง และทางเดินอาหารอีกด้วย

...หลายประเทศกำลังเผชิญผลกระทบจากการที่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนมาก และมีภาวะอาการคงค้างจนกระทบต่อระบบงานในประเทศ ล่าสุด Financial Times ได้เผยแพร่บทความเมื่อวานนี้ โดยกล่าวถึงผลการสำรวจของ The Chartered Institute of Personnel and Development โดยทำการสำรวจองค์กรต่างๆ กว่า 800 แห่ง ซึ่งมีลูกจ้างหรือพนักงานรวมกันกว่า 4.3 ล้านคน พบว่า มีถึง 1/4 ที่รายงานว่าประสบปัญหาเรื่องพนักงานของตนเองต้องลาป่วยระยะยาวเนื่องจาก Long COVID ทั้งนี้มีถึงครึ่งหนึ่งขององค์กรที่สำรวจ ได้ยอมรับว่าพนักงานของตนเองมีปัญหาภาวะอาการคงค้างหรือ Long COVID ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา แต่มีถึง 20% ที่รายงานว่าไม่ทราบสถานะสุขภาพของพนักงานว่ามีปัญหานี้หรือไม่ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงว่า ปัญหา Long COVID ในสถานการณ์จริงอาจมากกว่าที่องค์กรต่างๆ ได้รายงานมา

...สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงงาน ปัญหา Long COVID ที่จะเกิดขึ้นเป็นผลกระทบระยะยาวนั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือ ทั้งในเรื่องระบบการเฝ้าระวัง ติดตาม ดูแลรักษา ผู้ที่ป่วยเป็น Long COVIDและที่สำคัญคือ ระบบการให้คำปรึกษาให้แก่ประชาชน รวมถึงองค์กร/หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และเพื่อให้นายจ้างได้ดูแลลูกจ้างหรือพนักงานของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเวลาที่ประสบปัญหา

...โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ หากไม่สบาย แม้เล็กน้อย ก็ควรแจ้งคนใกล้ชิดหรือที่ทำงานที่เรียน หยุดงานหยุดเรียน เพื่อไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ถ้าทำเช่นนี้ได้ ก็จะประคับประคองการใช้ชีวิตในระหว่างสถานการณ์ระบาดไปได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!

อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม

ดิจิทัล วอร์รูม เตือนภัยฝ่าน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม

ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ  

'ไชยันต์' ตั้งปุจฉา 'ไม่มีสมบูรณาญาสิทธิราชก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง'

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่มีสม