สธ. เผยไทยผ่านจุดสูงสุดแพร่ระบาด '​โอมิครอน' แล้ว ชี้ตัวเลขต่ำกว่าคาดการณ์

4 ก.พ.2565 - ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการ​ณ์การ​แพร่ระบาด​ของ​โรค​โค​วิด​-19 ว่า​สถานการณ์​ระดับโลกประจำวันพบติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคน สะสมอยู่ที่ 388 ล้านราย เสียชีวิตรายวัน 1.03 หมื่นราย สะสมทั้งหมด 5.7 ล้านราย​ โดยวันนี้ (4 ก.พ.) ติดเชื้อใหม่สูงสุดอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 1.64 แสนราย เสียชีวิต 1.7 พันราย, อินเดีย 1.47 แสนราย เสียชีวิต 1.1 พันราย และบราซิล 2.77 แสนราย เสียชีวิต 923 ราย​ ส่วนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 9.9 พันราย และเสียชีวิต 22 ราย โดย 96% เป็นคนไทย 0.9% เป็นคนเมียนมาร์​ 0.5% เป็นคนกัมพูชา และ 2.6% เป็นคนจากพื้นที่อื่น ๆ เช่น นักท่องเที่ยว เป็นต้น

นพ.เฉวตร​สรร​ กล่าวว่า​ อย่างไรก็ตามการระบาดของสายพันธุ์​โอมิครอนของไทยเป็นผลพวงมาจากเทศกาลปีใหม่ที่มีการกินดื่มสังสรรค์กันมาก โดยกลุ่มที่พบการติดเชื้อสูงสุดเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 20-29 ปี จำนวน 21.5% รองลงมาเป็น 30-39 ปี จำนวน 18.7% และ 40-49 ปี จำนวน 14.2% ตัวเลขที่น่าสนใจคือกลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปี เริ่มมีการติดเชื้อมากขึ้นที่ 10.3% ทั้งนี้หากพิจารณาค่าเฉลี่ยการติดเชื้อจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 – 2 ก.พ. 65 โดยนำค่าเฉลี่ยแต่ละวันมาคิดเป็นเฉลี่ยจะพบว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดโลกได้ผ่านจุดสูงสุดของการระบาดระลอกโอมิครอนมาแล้ว คือวันที่ 28 ม.ค. 65​ ขณะที่เส้นยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้พุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบเท่ากับยอดการติดเชื้อแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่ามีการยกตัวขึ้นมาบ้าง แต่โอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

นพ.เฉวตสรร​ กล่าวอีกว่า​ ส่วนประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์โอมิครอนพบว่า ผ่านการติดเชื้อสูงสุดมาแล้วตั้งแต่ 18 ธ.ค. 64 แล้วกราฟค่อย ๆ มีการลดลงตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่​ ถัดมาได้แก่ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้พบการติดเชื้อโอมิครอนในสัดส่วนที่สูงมากในช่วงหลังปีใหม่ โดยมีการติดเชื้อสูงสุดในราววันที่ 8 ม.ค. 65 และเริ่มมีการลดลงเรื่อย ๆ ส่วนอัตราการเสียชีวิตยกตัวสูงขึ้นตามหลังจากการระบาดสูงสุดมาเล็กน้อย แต่ไม่มากไปกว่าช่วงระบาดเดลต้า​ (อินเดีย) ในส่วนประเทศไทยจุดสูงสุดของการระบาดโอมิครอนอยู่ที่วันที่ 17 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา และขณะนี้ได้ผ่านจุดสูงสุดการระบาดมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นผลมาจากไทยมีมาตรการช่วยชะลอการติดเชื้อให้ลดลงได้เป็นอย่างดี

สำหรับฉากทัศน์คาดการณ์การระบาดโควิด แม้ช่วงแรกประเทศไทยจะขึ้นไปตามกราฟสีเทาหรือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดติดเชื้อ 3 หมื่นราย แต่ด้วยการเคร่งครัดมาตรการ VUCA ทำให้ยอดการติดเชื้อของไทยกลับมาอยู่ระดับต่ำกว่าเส้นสีเขียว หรือระดับต่ำสุด แม้วันนี้จะมียอดการติดเชื้อเฉียด 1 หมื่นคน แต่ถือว่ายังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น ไม่ได้สูงกว่าที่คาดการณ์แต่อย่างใด​ ขณะที่ฉากทัศน์คาดการณ์การเสียชีวิตจากโควิดนับว่าไทยทำได้ต่ำกว่าเส้นสีเขียวที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของประชาชน​ ในปัจจุบันยอดการติดเชื้อในไทยเฉียดหมื่นคน โดยยอดเสียชีวิตยังมาจากกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนมานานแล้ว จึงอยากขอเชิญชวนประชาชนเข้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังและผู้สูงวัยจะมีโปรแกรมฉีดเข็มที่ 4 ตามมา ส่วนมาตรการ UP จะช่วยให้เราคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงให้อยู่ในระดับที่คุมได้

นพ.เฉวตสรร​ ยังแถลงอีกว่า​ ในส่วนของการฉีดวัคซีนโควิด-19​ ในไทยเพิ่มขึ้น 2.9 แสนโดส สะสม 116.1 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 52.4 ล้านโดส ครอบคลุม ร้อยละ 75.4 ของประชากร เข็มที่ 2 จำนวน 48.7 ล้านโดส ครอบคลุม ร้อยละ 70.1 และเข็มที่ 3 อีก 14.9 ล้านโดส ครอบคลุม ร้อยละ 21.4 ทั้งนี้ จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 4.9 ล้านราย จากเป้าหมาย 4.7 ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ 105.7 ส่วนผู้อายุมากกว่า 60 ปี ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 8.3 ล้านราย จากเป้าหมาย 12.7 ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ 66

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมควบคุมโรค เผย ชาวอเมริกันติดไวรัสไข้หวัดนกจากฝูงนกหลังบ้านเป็นรายแรก หนัก!นอนICU

กรมควบคุมโรค เผยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) รายงาน ผู้ติดเชื้อไวรั

'หมอธีระวัฒน์' ยกตัวอย่างคนป่วยวัคซีนโควิด รายแล้วรายเล่า ถ้านิ่งเฉยไม่ควรเป็นแพทย์หรือมนุษย์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ตัวอย่างของคนป่วย รายแล้วรายเล่า ไม่จบไม่สิ้นนำมาแสดงบางราย ทั้งนี้เป็นที่หมอดูเองและร่วมดูทั้งสิ้น