31 ม.ค. 2565 – ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเป็นวันแรก
นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด 19 ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี คือวัคซีนของไฟเซอร์ ที่ผลิตสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีโดยเฉพาะ เป็นขวดฝาสีส้ม จัดส่งล็อตแรก 3 แสนโดส ผ่านการตรวจรับรองรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว จะส่งไปยังจุดฉีดวัคซีนทั่วประเทศต่อไป เบื้องต้นจะฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคก่อน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ดำเนินการในสถานพยาบาล ภายใต้ความสมัครใจของผู้ปกครองและการพิจารณาของกุมารแพทย์ผู้ดูแล โดยวันนี้ เริ่มฉีดให้กับเด็กอายุ 5 - 11 ปีที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ณ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นแห่งแรก ส่วนการฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปีทั่วไป จะใช้ระบบโรงเรียนเป็นฐาน ไล่เรียงตามลำดับชั้นจากประถมศึกษา 6 ลงไป เหมือนที่เคยดำเนินการในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามาก่อน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 และสามารถกลับสู่ระบบการศึกษาที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการและทักษะทางสังคมต่อไป
สำหรับวันนี้เป็นการฉีดครั้งแรกหลังได้รับวัคซีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งประเทศไทยสั่งวัคซีนสูตรเด็ก 10 ล้านโดส เดิมจะเข้ามาสัปดาห์ละ 3 แสนโดส ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงส่งครบ แต่ผู้บริหารของไฟเซอร์แจ้งว่ายินดีทยอยส่งวัคซีนให้มากขึ้น โดยขอตรวจสอบในระบบก่อนเพื่อแก้ไขสัญญากับกรมควบคุมโรค คาดว่าจะทำให้ได้รับวัคซีนครบเร็วขึ้น ได้ให้กรมควบคุมโรคเร่งประสานงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์ กรมอนามัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนในเด็ก ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจต่อพ่อแม่ผู้ปกครองว่า วัคซีนมีมาตรฐานและความปลอดภัย อาการข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่อันตราย หากสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทุกช่วงวัยได้มากขึ้น ประเทศก็จะปลอดภัยเพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 ในทุกช่วงวัย ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ยังไม่มีวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาก่อน แต่เมื่อมีวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในกลุ่มอายุ 5-11 ปีได้ และมีการนำเข้าวัคซีนมาแล้ว จึงดำเนินการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคก่อน เพราะแม้การติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แต่เด็กที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคในเด็กอายุ 5-11 ปี ได้แก่ 1.โรคอ้วน ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน และ 7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเด็กอายุ 5 -11 ปี ประมาณ 5.8 ล้านคน จำนวนนี้อยู่ใน 7 กลุ่มโรคประมาณ 9 แสนคน และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 4 พันคน ซึ่งการฉีดวัคซีนในวันนี้มีเด็กที่ผู้ปกครองสมัครใจให้เข้ารับวัคซีน ทั้งสิ้น 100 คน โดยจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3-12 สัปดาห์ ตามดุลยพินิจของกุมารแพทย์ โดยพิจารณาจากประวัติ อาการ และข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
'ภูมิใจไทย' นัดหลังปีใหม่ ดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลครั้งต่อไป ว่า
'อนุทิน' ไม่หวั่น 'ทักษิณ' โวกวาด 200 เสียง ยัน 'รมต.-สส.' ภท. ขยันทำงาน
'อนุทิน' ชี้ 'ทักษิณ' โวเลือกตั้งครั้งหน้ากวาด 200 เสียง มีสิทธิตั้งเป้า ยัน ภท. ไม่เงียบ 'รมต.-สส.' ลงพื้นที่ทำงานขึ้นเหลือล่องใต้ ปัดส่งผู้สมัครชิง นายก อบจ. ในนามพรรค
'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง
'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล