พบ 'โอมิครอน' สายพันธุ์​ย่อย​ BA.2 ใน​ไทย​ 9 ร​าย ยันไม่ใช่กลายพันธุ์

25 ม.ค.2565 - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ติดตามสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์ในประเทศ และ ติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีการตรวจการกลายพันธุ์ (SNP genotyping assay, Targeted sequencing, Whole genome sequencing) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งพบสายพันธุ์ที่น่ากังวลในประเทศไทย (Variant of Concerns; VOC) ได้แก่ อัลฟ่า​ (อังกฤษ)​ เบต้า​ (แอฟริกาใต้)​ เดลต้า​ (อินเดีย)​ จนกระทั่งพบสายพันธุ์โอมิครอน รายแรกเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2564 โดยเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งของสายพันธุ์โอมิครอน โดยในช่วงแรกประเทศไทยยังคงพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประมาณสามสัปดาห์ต่อมาเริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบในคลัสเตอร์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2565 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.. 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย

“ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 รวมทั้งหมด 9 ราย ซึ่งลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล