ศบค. แจงข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อ 'โอมิครอน' เสียชีวิตรายที่ 2 แนะผู้สูงอายุใส่แมสก์ในบ้านด้วย

17 ม.ค.2565 - เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,929 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,713 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,670 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 43 ราย มาจากเรือนจำ 7 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 209 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,331,414 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 5,255 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,227,266 ราย อยู่ระหว่างรักษา 82,210 ราย อาการหนัก 533 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 108 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 13 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 6 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้ง 13 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,938 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 328,775,317 ราย เสียชีวิตสะสม 5,557,739 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยยืนยันเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2 ราย รายแรก เป็นหญิงไทย อายุ 86 ปี อยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นอัลไซเมอร์ และได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม แต่ฉีดเข็มที่สองมาแล้ว 4 เดือน โดยติดเชื้อจากคนใกล้ชิด เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เมื่อวันที่ 7 ม.ค. และเสียชีวิตวันที่ 12 ม.ค. รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี อยู่ จ.อุดรธานี เป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ติดเชื้อจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน ทันทีที่ทราบว่าบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวติดโควิด จึงรีบตรวจแบบ RT-PCR และพบผลเป็นบวกในวันที่ 9 ม.ค. แพทย์แนะนำให้รักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยไม่มีอาการเหนื่อยหอบ แต่ต่อมาวันที่ 15 ม.ค. มีอาการเหนื่อยหอบ ค่าออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 76 ทางโรงพยาบาลมีการประสานผู้ป่วยเข้ารักษาตัวโรงพยาบาล แต่ญาติปฏิเสธการรักษาตัวที่โรงพยาบาล กระทั่งเสียชีวิตวันที่ 15 ม.ค. กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำแนะนำไปยังประชาชนทั่วไปที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ขอให้สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หากเป็นไปได้ขอให้จัดพื้นที่แยกจากคนอื่น หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม หากใครจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ขอให้เป็นผู้ดูแลประจำจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 17 ม.ค. ได้แก่ กทม. 722 ราย สมุทรปราการ 656 ราย ชลบุรี 454 ราย ภูเก็ต 389 ราย นนทบุรี 386 ราย ขอนแก่น 290 ราย อุบลราชธานี 210 ราย ปทุมธานี 199 ราย เชียงใหม่ 193 ราย นครศรีธรรมราช 182 ราย

ทั้งนี้ ยังมีการพบคลัสเตอร์ร้านอาหาร กึ่งผับ กึ่งสถานบันเทิง ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบคลัสเตอร์ตลาดที่ จ.อุดรธานี คลัสเตอร์งานเลี้ยงสังสรรค์พบที่ จ.อำนาจเจริญ คลัสเตอร์พิธีกรรมศาสนา พบหลายอำเภอที่ จ. อุบลราชธานี คลัสเตอร์งานศพร้อยเอ็ด รวมถึงที่สมุทรปราการ ซึ่งมีประวัติไปร่วมงานศพที่ จ.นราธิวาส เป็นการติดเชื้อจากการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง และคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์พบที่โรงพยาบาลภูมิพล และโรงพยาบาลธนบุรี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป

สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว

สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ

ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่