'หมอธีระ' ชี้โควิด-19 อาละวาดหนัก ทั่วโลกป่วยทะลุ 313 ล้านคนไปแล้ว โอมิครอนขยายวงอย่างเร็ว เตือนไทยดูตัวอย่างต่างประเทศ ผวาไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อเพราะการตรวจ ATK และ RT-PCR ไม่เพียงพอ
12 ม.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 12 มกราคม 2565 ว่าทะลุ 313 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,596,926 คน ตายเพิ่ม 7,544 คน รวมแล้วติดไปรวม 313,708,064 คน เสียชีวิตรวม 5,520,358 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี อินเดีย และสเปน จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.39 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.78
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 46.52 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 50.1 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 4 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...อัพเดต Omicron องค์การอนามัยโลกเพิ่งสรุปรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 11 มกราคม 2565 สถานการณ์ไม่ดี เพราะจำนวนการติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ของทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 55% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3% มีเพียงทวีปแอฟริกาทวีปเดียว ที่ติดเชื้อใหม่ลดลง 11% อย่างไรก็ตามจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มถึง 84%
มองเรื่องจำนวนติดเชื้อใหม่ ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นถึง 418% เป็นตัวเลขที่ย้ำเตือนให้ไทยเราตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมรับมือกับระลอก 4 จาก Omicron นี้ ในรอบเดือนที่ผ่านมา ข้อมูลระบบการเฝ้าระวังเรื่องสายพันธุ์จาก GISAID พบว่า Omicron ครองการระบาดของโลกโดยมีสัดส่วนถึง 58.5% เหนือกว่าเดลต้า (41.4%) ไปแล้ว
...สรุปเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์
WHO ทบทวนข้อมูลวิชาการปัจจุบัน ชี้ชัดว่า Omicron แพร่เชื้อได้ไวขึ้น ผู้ที่ติดเชื้อมาก่อนสามารถติดเชื้อซ้ำได้มาก แต่มีแนวโน้มว่าความรุนแรงของโรคจะน้อยลงกว่าเดลตา
ส่วนการตรวจคัดกรองโรคนั้น หากใช้ RT-PCR ยังสามารถใช้ตรวจได้ แต่หากใช้ rapid test (Ag-RDT หรือที่ไทยเราเรียกว่า ATK) มีรายงานผลที่แตกต่างกันไป กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ (ดังที่ก่อนหน้านี้ ทราบกันดีว่า US CDC ประกาศออกมาว่าจะมีความไวลดลง ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดผลลบปลอมสูง นั่นคือติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ)
...สรุปผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ Omicron
WHO สรุปให้เห็นว่า ข้อมูลวิชาการปัจจุบันชัดเจนว่า วัคซีนที่ใช้อยู่เดิมนั้นมีประสิทธิภาพลดลงต่อการป้องกันการติดเชื้อ (infection) และป้องกันการป่วย (symptomatic disease) นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่วัคซีนจะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการป่วยรุนแรง แต่ข้อมูลวิชาการยังมีจำกัด นี่จึงเป็นเหตุผลที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความสำคัญ
...สำหรับไทยเรา ตามลักษณะการระบาดของ Omicron ที่เห็นจากทั่วโลก ถัดจากกลางมกราคมคงเป็นช่วงที่เราต้องระวัง เพราะน่าจะเป็นช่วงอัตราเร่งของการระบาด ทั้งนี้หลายประเทศมีอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วมากจนกราฟการระบาดแทบจะเกือบตั้งฉาก (nearly vertical) และทุกประเทศที่ระบาดหนัก จะประสบปัญหาการตรวจที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้ง ATK และ RT-PCR และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการปฏิบัติดูแลตนเองของประชาชน รวมถึงทำให้แพร่กระจายมากขึ้นเร็วขึ้นจากการไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อ
ประเด็นสำคัญคือ ไทยจะมีศักยภาพของระบบการตรวจโรคที่จะรองรับความต้องการยามระบาดมากขึ้นได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันเริ่มเห็นการขาดแคลนของชุดตรวจด้วยตนเอง และราคาที่สูงขึ้นจนประชาชนเข้าถึงได้ยากขึ้นในบางพื้นที่ นี่คือโจทย์ที่รัฐจำเป็นต้องรีบมาช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการเปิดจุดบริการในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น การควบคุมราคาขาย และการพิจารณาแจกจ่าย ATK ให้แก่ทุกครัวเรือนหากเป็นไปได้
ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี พบคนน้อยลงสั้นลง อยู่ห่างๆ เกินหนึ่งเมตร และหมั่นสำรวจตนเองและครอบครัว หากไม่สบายคล้ายหวัด ให้แยกจากสมาชิกในบ้าน และรีบหาทางตรวจรักษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 557 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา