ศบค. แจง จนท.ทำเนียบติดโควิด 3 ราย เสี่ยงสูงแค่ 5 ยกมาตรการ 'ทำงานที่บ้าน' ได้ผลดี

10 ม.ค.2565 - เมื่อเวลา 12.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 9 ม.ค. ได้แก่ ชลบุรี 767 ราย สมุทรปราการ 693 ราย กทม. 534 ราย ภูเก็ต 513 ราย อุบลราชธานี 383 ราย นนทบุรี 261 ราย นครศรีธรรมราช 227 ราย ขอนแก่น 203 ราย เชียงใหม่ 200 ราย อุดรธานี 182 ราย โดยมีจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเกินร้อยราย 18 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) พื้นที่เศรษฐกิจ จังหวัดเหล่านั้นจึงต้องเข้มข้นมาตรการให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันยังพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ หลายแห่ง ประกอบด้วย คลัสเตอร์ตลาดพบที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ปทุมธานี และพิษณุโลก คลัสเตอร์แคมป์คนงานพบที่ จ.นครราชสีมา คลัสเตอร์โรงเรียน สถานศึกษาพบที่ จ.นครปฐม คลัสเตอร์ค่ายทหารพบที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ คลัสเตอร์สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์พบที่ กทม.และปทุมธานี พบคลัสเตอร์งานวันเกิดที่ จ.จันทบุรี คลัสเตอร์ร้านอาหาร สถานบันเทิง พบที่ จ.ขอนแก่น บุรีรัมย์ พะเยา นนทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นครปฐม น่าน ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง ที่ไม่ทำตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้มีการกระจายเชื้อไปยังชุมชนและครอบครัว จึงต้องเฝ้าระวังควบคุมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบคลัสเตอร์การสังสรรค์จากเทศกาลปีใหม่ที่ จ.อุบลราชธานี ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช ราชบุรี ลพบุรี พะเยา น่าน อำนาจเจริญ ชลบุรี ยโสธร มหาสารคาม ปัจจัยสำคัญของคลัสเตอร์เหล่านี้มาจากการรวมตัวกันของคนที่หนาแน่นในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี

พญ.สุมนี กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันผู้ติดเชื้ออยู่ในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์กรณีประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองครอบจักรวาล หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอัตราผู้ติดเชื้อช่วงปลายเดือน ม.ค.จะไปแตะที่วันละ 2 หมื่นราย และปลายเดือน ก.พ.จะไปแตะที่วันละ 3 หมื่นราย ขณะที่การคาดการณ์การเสียชีวิต สถานการณ์จริงในปัจจุบันยังต่ำ สอดคล้องกับสถานการณ์โลก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนกันแล้ว

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับมาตรการทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม ของหน่วยงานต่างๆ ตามที่มีข้อกำหนดศบค.ให้ปฏิบัติงานถึงวันที่ 31 ม.ค.65 นั้น จะต้องไม่กระทบต่อการบริการประชาชนหรือการดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งมีตัวอย่างที่ชัดเจนจากกรณีที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ติด โควิด-19 จำนวน 3 ราย เมื่อสอบสวนโรคแล้วพบว่าเกี่ยวโยงกับการได้รับเชื้อมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่เนื่องจากเวิร์ก ฟรอม โฮม จึงพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่เกิน 5 ราย ทั้งหมดได้ถูกแยกกัก รักษาไปเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นความโชคดีของหน่วยงานที่ได้มีมาตรการเวิร์ก ฟรอม โฮม ทำให้ไม่มีการระบาดเพิ่มเติม เนื่องจากเจ้าหน้าที่สลน. มีจำนวนมาก หลายร้อยคน หากมาทำงานเต็มรูปแบบก็อาจจะพบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่านี้ หรือมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมากกว่านี้

พญ.สุมนี กล่าวว่า การที่มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในระลอกมกราคม ปี 65 ต้องขอแจ้งว่าทางศบค. และ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเตรียมการยกระดับการจัดการเอาไว้แล้ว จะต่างจากการระบาดหนักในช่วงระลอกเมษายน ปี 64 ที่ผ่านมาในขณะนั้นประชาชนคนไทยยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุม และตอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวก็มีจำนวนมาก และช่วงนั้นเราเพิ่งเริ่มทำระบบการกับตัวรักษาที่บ้าน (HI) และการดูแลรักษาในชุมชน (CI) แต่ตอนนี้จะไม่เหมือนกับตอนนั้นแล้ว เพราะเรามีการยกระดับเตรียมพร้อมในการเปิดการให้บริการแบบ HI และ CI

พญ.สุมนี กล่าวว่า ทั้งนี้ จังหวัดที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างมากคือ จังหวัดที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก 10 อันดับแรก และเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าหลักร้อย และจะเป็นจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว ต้องมีการเตรียมพร้อม ได้มีการเตรียมการทำแนวทาง หากมีผลตรวจ ATK เป็นบวก คือติด แต่มีอาการน้อยให้ติดต่อที่ โทร 1330 หรือไลน์ @สปสช. แต่ถ้าในต่างจังหวัดให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของจังหวัดหรืออำเภอนั้นๆ เพื่อที่จะได้เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านหรือในชุมชน

พญ.สุมนี กล่าวว่า แต่หากมีผลตรวจ ATK เป็นบวก แล้วมีอาการหนัก เช่น เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือมีอายุมากกว่า 60 ปีหรือมีโรคประจำตัว มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน มีอาการหายใจหอบเหนื่อย มีไข้ มากกว่า 39 องศา นานกว่า 1วัน จะมีการพิจารณาตามเกณฑ์ให้ส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยในการระบาดระลอกนี้ทางกรมการแพทย์ ได้มีการเตรียมการ ดูแลผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ป่วยเด็กเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในกลุ่ม 5-11ปี ได้มีการเตรียมยาต้านไวรัส โควิด-19 ที่เป็นฟาวิพิราเวียร์ แบบน้ำเอาไว้ และมีการเตรียมพร้อมที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กในCI สำหรับผู้ปกครองในการที่จะไปดูแลบุตรด้วยกันได้ โดยจะมีการประสานงานเตรียมความพร้อมทั้งในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาค

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่สงสัยตัวเองว่ามีความเสี่ยง เช่น ไปในสถานที่เสี่ยง เข้าร่วมกิจกรรมเสี่ยง คือ ที่ที่มีคนหนาแน่นมากๆ ให้ช่วยสังเกตอาการโดยกรมการแพทย์ได้เก็บข้อมูลจัดทำเป็นลักษณะอัตราการติดเชื้อของโอมิครอน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามี 48% ที่ไม่มีอาการ ส่วนอาการอื่นๆที่พบมากที่สุด คือ อาการไอ 54% เจ็บคอ 37% มีไข้ 29% น้อยกว่าตอนช่วงการระบาดเดลต้า นอกจากนั้นพบอาการอื่นอีกเพียงเล็กน้อย อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ได้กลิ่นลดลง

พญ.สุมนี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้จะมีการแถลงข่าวรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการจัดการและการรองรับการระบาด โควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสปสช. ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลเพิ่มเติมลงในรายละเอียดได้จากการถ่ายทอดการแถลงข่าวดังกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

ย้อนดู 5 ปี 'โควิด 19' ความสับสนของข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬา โพสต์เฟซบุ๊กว่า

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป