'หมอธีระ' ชี้ไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงก้าวกระโดดของผู้ติดเชื้อโอมิครอนหลังกลางเดือนมกราคมนี้ เผยระบบตรวจคัดกรองโรคของไทยยังมีศักยภาพไม่เพียงพอรองรับช่วงระบาดหนัก
06 ม.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 6 มกราคม 2565 ว่า ทะลุ 297 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,270,343 คน ตายเพิ่ม 6,632 คน รวมแล้วติดไปรวม 297,857,572 คน เสียชีวิตรวม 5,481,064 คน5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และสเปน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.15 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.49 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.98 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 55.86 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...อัพเดต Omicron
Omicron แพร่ระบาดไปแล้ว 141 ประเทศ โดยมี 22 ประเทศที่รายงานมากกว่า 1,000 ราย (Source: Newsnodes)
...สำหรับสถานการณ์ไทย จำนวนเคส Omicron สะสม 2,338 คน เป็นอันดับ 12 ของโลก
...อัพเดตความรู้ Omicron นั้นมีการติดเชื้อในเซลล์ปอดน้อยลงกว่าเดลตา โดยตอนนี้มีงานวิจัยในห้องแล็บ และในสัตว์ จำนวน 7 ชิ้นจากอเมริกา สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม ฮ่องกง และญี่ปุ่น ได้ผลออกมาสอดคล้องกัน ซึ่งก็เป็นไปในทางเดียวกับความรู้จากงานวิจัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ Omicron นั้นมีการเปลี่ยนแปลงกลไกการนำไวรัสเข้าสู่เซลล์ จากเดิมที่สายพันธุ์ก่อนๆ อาศัยตัวรับร่วม TMPRSS2 แต่ Omicron ใช้กลไกแบบ endocytosis
นอกจากนี้ยังพบว่า Omicron จะติดเข้าเซลล์ที่อยู่ในหลอดลม และแบ่งตัวได้มากกว่าเดลตา 70 เท่า นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อได้มากขึ้นกว่าเดิม
อีกเรื่องที่สำคัญและได้รับคำถามมามากจากผู้ปกครองคือ ความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจาก mRNA vaccine (Pfizer/Biontech) ในเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ล่าสุดมีข้อมูลจาก US CDC ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีน Pfizer/Biontech ในเด็ก 5-11 ปีนั้นมีน้อยมาก โดยในเด็กผู้ชาย จะพบภาวะดังกล่าวเพียง 4.3 คนจาก 1,000,000 โดสที่ฉีด และในเด็กผู้หญิง จะพบเพียง 2 คนจาก 1,000,000 โดสที่ฉีด ทั้งหมดเกิดหลังได้รับเข็มที่ 2 ทั้งนี้ขนาดของวัคซีน Pfizer/Biontech ที่ใช้ในเด็กนั้นจะมีขนาดต่ำกว่าผู้ใหญ่ 3 เท่า ดังนั้นหากพิจารณาตามข้อมูลวิชาการแล้ว ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักทั่วโลก การฉีดวัคซีนในเด็กนั้นจะเกิดประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ ลดโอกาสป่วยรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิต ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมากกว่าความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน
...สำหรับประชาชนไทย หากดูจากธรรมชาติการระบาดของ Omicron ของต่างประเทศ คาดว่าถัดจากกลางเดือนมกราคม การระบาดระลอกที่ 4 จาก Omicron ของไทยเราจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัญหาที่เห็นชัดเจนคือ การเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรค ไม่ว่าจะ RT-PCR หรือ ATK ก็ตาม การมี ATK เก็บไว้ที่บ้านบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ เวลาที่สมาชิกในบ้านมีอาการไม่สบายหรือสัมผัสความเสี่ยงมา หากตรวจได้ผลบวก โอกาสติดสูง หากตรวจได้ผลลบ อย่าวางใจ มีโอกาสเกิดผลลบปลอมได้ ขอให้ตรวจซ้ำในวันถัดๆ ไป เหนืออื่นใด โอกาสที่ระบบตรวจคัดกรองโรคของประเทศเราจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับความต้องการตรวจจริงตอนที่ระบาดหนักน่าจะเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นทางที่ควรปฏิบัติคือ ยามใดที่มีอาการไม่สบาย ไข้ ปวดหัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ปวดเมื่อยตามตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ขอให้สงสัยโควิด-19 ด้วยเสมอ ใส่หน้ากาก อยู่ห่างๆ คนอื่นในบ้าน ไม่แชร์ของกินของใช้ และหาทางไปตรวจรักษาตามช่องทางที่มี home isolation หรือกักตัวที่บ้านนั้น ในต่างประเทศทำได้ แต่ในประเทศไทย หลายพื้นที่อาจต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะเขตเมืองที่อยู่กันอย่างหนาแน่นแออัด บ้านที่รวยมีที่ทางคงไม่มีปัญหา แต่หากเป็นบ้านที่คับแคบ รวมถึงหอพัก คอนโด แฟลต ชุมชนแออัด คงต้องระวังการแพร่ระบาดในพื้นที่ด้วย เพราะ Omicron มีอัตราการแพร่เชื้อติดเชื้อในครัวเรือนได้สูงกว่าเดลต้า (31% vs 21%) ดังนั้นหากผู้ติดเชื้อหรือครอบครัวประเมินแล้วเสี่ยงมาก ควรไปที่ community isolation ใส่หน้ากาก อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงที่แออัดหรือระบายอากาศไม่ดี อัตตา หิ อัตตโน นาโถ...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลเตือนเช็กอาการ 6 โรคหลังไปเที่ยวปีใหม่
รองโฆษกรัฐบาลขอ ปชช.เดินทางท่องเที่ยว ปลอดภัย ไร้โรค ไร้ภัย แนะหมั่นสังเกตอาการ หลังเดินทางกลับ หากมีอาการผิดปกติ รีบพบแพทย์
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน