27 ธ.ค.2564 - เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,437 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,327 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,307 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 20 ราย มาจากเรือนจำ 18 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 92 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,212,407 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 3,845 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,156,374 ราย อยู่ระหว่างรักษา 34,436 ราย อาการหนัก 752 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 179 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 10 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,598 ราย
ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 120,612 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 102,681,943 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 280,332,969 ราย เสียชีวิตสะสม 5,416,370 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 27 ธ.ค. ได้แก่ กทม. 427 ราย นครศรีธรรมราช 450 ราย ชลบุรี 138 ราย ขอนแก่น 96 ราย สมุทรปราการ 88 ราย เชียงใหม่ 57 ราย ตรัง 56 ราย ฉะเชิงเทรา 54 ราย สงขลา 53 ราย และสุราษฎร์ธานี 52 ราย
สำหรับประเทศไทยยังพบคลัสเตอร์ในหลายพื้นที่ ทั้งคลัสเตอร์โรงงาน ตลาด พิธีกรรมทางศาสนา เช่น มีผู้เดินทางจาก จ.ขอนแก่น ไปร่วมงานศพที่ จ.เลย, คลัสเตอร์สถานศึกษา โรงเรียน ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นนทบุรี ลำปาง, คลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิง ซึ่งหลายพื้นที่ยังพบการลักลอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ จึงมีการเข้มงวดกวดขันที่ไม่ใช่การขอความร่วมมือ แต่จะมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เน้นย้ำว่า หากสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการแล้วเกิดพบการติดเชื้อ จะเสนอให้มีการปิด ล็อคได้บางจุด บางถนน หากบางร้านมีความเข้มงวดแต่ร้านอื่นไม่ทำตาม อาจเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงให้สมาคมผู้ประกอบการเหล่านี้ติดตามเฝ้าระวังกันเอง
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นอาการของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 41 ราย พบว่ามีอาการไอมากที่สุดถึงร้อยละ 54 ราย รองลงมาคือ เจ็บคอ และเป็นไข้ ส่วนอาการที่พบน้อยที่สุดคือ การรับรู้กลิ่นน้อยลงมีเพียง 1 ราย โดยโอมิครอนเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบน ไม่ลงปอด จึงเป็นการยากที่จะสังเกตอาการคนใกล้ชิด สาธารณสุขจึงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นเพื่อเป็นการป้องกัน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โอมิครอนในประเทศไทยทำให้ทั้งไทยและหลายประเทศมีมาตรการตอบโต้ โดยแนะนำให้ประชาชนฉีดบูสเตอร์เข็มสาม ซึ่งเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพและหลายประเทศเห็นพ้องแนวทางนี้
ในส่วนของไทยนั้นอัตราการบูสเตอร์เข็มสามยังน้อยมาก มีผู้ฉีดเข็มสามเพียง 6,226,249 รายเท่านั้น คิดเป็น 8.6% ของประชากร จึงขอให้เร่งรณรงค์ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ฉีดเข็มที่หนึ่งและสองเป็นซิโนแวค หรือชิโนฟาร์ม ให้ฉีดบูสเตอร์เข็มสามหลังจากฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สองแล้ว ให้รอ 3 เดือน จึงไปกระตุ้นเข็มที่สาม เช่นเดียวกับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ให้รอหลังจากหายแล้ว 3 เดือน และ ศบค.ชุดเล็ก ยังมีความห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค จึงขอให้ไปฉีดเข็มที่สี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่