'หมอธีระ' เผยทั่วโลกติดเชื้อทะลุ 227 ล้านคนไปแล้ว โอมิครอนอาละวาดหนัก แนะไทยเริ่มดำเนินใน 5 เรื่อง พร้อมเสนอรัฐยกเลิกจัดงานปีใหม่
23 ธ.ค.2564 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทะลุ 277 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 828,916 คน ตายเพิ่ม 6,743 คน รวมแล้วติดไปรวม 277,420,699 คน เสียชีวิตรวม 5,392,089 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมัน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.95 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.48 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 56.01 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 55.7 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,532 คน สูงเป็นอันดับ 37 ของโลก หากรวม ATK อีก 788 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 32 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย
...ภาพรวมการระบาดของ Omicron อเมริกาติดเชื้อใหม่สูงถึง 202,277 คน ถือว่าเกินสองแสนต่อวันเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการระบาดของ Omicron ซึ่งตอนนี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปแล้วภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์
ในขณะที่สหราชอาณาจักร ทะลุแสนคนต่อวันเป็นครั้งแรกตั้งแต่เคยมีการระบาดของโรคโควิด-19 มาตลอดสองปี เมื่อวานติดไปถึง 106,122 คน คิดเป็น 156% ของปลายปีก่อน
ส่วนฝรั่งเศสและสเปนก็ทำ New High ตั้งแต่เคยระบาดมาเช่นกัน ด้วยยอด 84,272 และ 60,041 คนตามลำดับ
ในแง่ของความรุนแรงของ Omicron ที่ทำให้ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลนั้น ตอนนี้มีการศึกษาเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้ อังกฤษ และสกอตแลนด์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ดูจะมีแนวโน้มที่ความรุนแรงจะน้อยกว่าเดลตาราว 30-70% หากเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อน โดยพิจารณาจากเรื่องอัตราการนอนโรงพยาบาลและระยะเวลานอนโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามนี่เป็นการศึกษาที่สังเกตจากช่วงต้นของการระบาด ยังจำเป็นต้องติดตามภาพรวมจากประเทศอื่นทั่วโลก และใช้เวลาติดตามนานกว่านี้ด้วยเพื่อให้มีความแม่นยำขึ้น
ทั้งนี้หากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตย่อมสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน และไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็ย่อมทำให้เสี่ยงสูงทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะอย่างไร การที่ Omicron ติดเชื้อแพร่เชื้อได้ไวขึ้นกว่าเดลตาถึง 4.1 เท่า หรือ 410% ของเดลตา แม้ความรุนแรงที่จะทำให้ป่วยรุนแรงหรือตายลดลงไปครึ่งหนึ่ง จำนวนของผู้ติดเชื้อ Omicron นั้นจะสูงขึ้นพรวดพราดอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้มีการป่วยการเสียชีวิตที่สูงเท่ากับหรือมากกว่าเดิมได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศต่างๆ กังวลอย่างมาก
...สำหรับไทยเรา เป็นไปตามที่ได้เคยเตือนไว้ว่า ตามธรรมชาติของการระบาดและเงื่อนเวลาที่จะสังเกตเห็นผลจากการประกาศนโยบายเปิดรับความเสี่ยงเรื่องรับนักท่องเที่ยวและคนเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่พฤศจิกายน เราจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนได้ตั้งแต่หลังสัปดาห์ที่สามของธันวาคม...ซึ่งตอนนี้ก็คงเห็นกันแล้ว เดิมพันในการควบคุมป้องกันการระบาดที่กำลังปะทุครั้งนี้ ยังยืนยันเช่นเดิม
หนึ่ง ระบบการกักตัว 14 วัน และตรวจ RT-PCR อย่างน้อย 2 ครั้ง จำเป็นต้องทำอย่างเคร่งครัด หากผันไปใช้ ATK หรือย่อหย่อนไม่กักตัว หรือตรวจ RT-PCR น้อยครั้งลง ความเสี่ยงที่จะหลุดและส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคมย่อมเกิดขึ้นแน่ ดังที่เห็นว่าเกิดขึ้นไปแล้ว และย้อนเวลากลับคืนไม่ได้ การหวังโกยเงินเพื่อเศรษฐกิจโดยที่ระบบป้องกันไม่แข็งแรงพอ จะกลายเป็น "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย"
สอง จำเป็นต้องเตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคเพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยมีศักยภาพในการตรวจจำนวนมากและต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ เข้าถึงได้ง่าย ไม่ติดกฎเกณฑ์หยุมหยิม และฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อจะสามารถรับมือการระบาดได้ทัน
สาม วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ และมีความเพียงพอ จุดนี้แล้ววัคซีนหลักควรใช้วัคซ๊นที่มีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น mRNA vaccines ไม่ว่าจะเป็น Pfizer/Biontech หรือ Moderna ยกเว้นคนที่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้ได้ นอกจากนี้เข็มกระตุ้นก็จำเป็นต้องเป็น mRNA vaccines เช่นกัน
สี่ จำเป็นต้องกระตุ้นเตือนให้ประชาชนมีความตระหนักถึงอันตรายจากภาวะคุกคามนี้ ให้มี harm perception ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปลอบประโลมจนเคลิ้มว่าธรรมดา กระจอก เอาอยู่ ปลอดภัย ทั้งๆ ที่สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกและข้อมูลวิชาการชี้ไปคนละทาง
และสุดท้ายคือ ประชาชนทุกคน รวมถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เล็ก กลาง ใหญ่ นายจ้าง ลูกจ้าง และลูกค้า ต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร หากไปที่ใด หรือทำงานที่ใด แล้วพบคนที่ไม่ป้องกันตัวเอง ต้องตักเตือน หรืองดเว้นการให้บริการ และบังคับใช้กฎระเบียบตามที่หน่วยงานรัฐกำหนด เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว เลี่ยงปาร์ตี้สังสรรค์คริสต์มาสและปีใหม่ ฉลองกับคนในครอบครัวที่บ้าน จะปลอดภัยกว่า
...รัฐควรยกเลิกการจัดงานปีใหม่ เพื่อปกป้องรักษาชีวิตคนของเราครับ... ด้วยรักและห่วงใย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
'หมอยง' บอกไม่ต้องตื่นตะหนกไอกรนคนไทย 50%มีภูมิต้านทาน!
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม