'นพ.ยง' แนะรัฐเร่งหาจุดสมดุลระหว่างการระบาดของโรคกับปากท้อง

หมอยงชี้โควิด 19 โอมิครอนถือเป็นความยากในการตัดสินใจของผู้บริหารที่จะหาจุดสมดุลระหว่างการระบาดของโรคกับปากท้องประชาชน แต่ตัดสินใจต้องให้เร็วที่สุด

22 ธ.ค.2564 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 โอมิครอน ความยากในการตัดสินใจของผู้บริหาร” ระบุว่า การระบาดของ covid 19 สายพันธุ์โอมิครอน จะต้องเกิดในประเทศไทยอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

ถ้าเป็นไปได้เราอยากให้ช้าที่สุดเพื่อรอระบบสาธารณสุขในการให้วัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นให้ได้มากที่สุดก่อน การได้รับวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอในการที่จะรับมือ โอมิครอน

โอมิครอน จะเข้ามาได้เร็วจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ Test to go โดยไม่มีการกักตัว เป็นไปได้ยากที่จะป้องกันการหลุดรอดของโอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศไทย ผู้เดินทางเข้ามาอาจอยู่ในระยะฟักตัว หรือสัมผัสระหว่างการเดินทาง

การป้องกันจะได้ผล จะต้องย้อนกลับไปแบบเดิม มีการกักตัว จะเป็น 7 วัน 10 วันหรือ 14 วันก็แล้วแต่ และการประกาศให้งดกิจกรรมบางอย่างในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือลดการเดินทาง ก็จะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาการระบาดของ โอมิครอน ถ้ามีการระบาดมากก็จะย้อนเป็นวงจรมาสู่ปากท้องประชาชน

ผลทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ สำหรับความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่กระจายของโรค

ในขณะที่อัตราการตรวจพบ โอมิครอน ในผู้เดินทางจากต่างประเทศและติดเชื้อ มีอัตราที่สูงขึ้นอย่างมาก โอกาสหลุดรอดจึงเป็นไปได้สูงมาก และถ้ามาประกอบกับ การเดินทางในช่วงปีใหม่ และการเฉลิมฉลองต่างๆ โอกาสแพร่กระจายของโรคก็เป็นไปได้สูง อัตราการแพร่โรคเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว บทเรียนจากประเทศในยุโรปและอเมริกา ที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และบางประเทศต้องหันมาปิดประเทศอีกครั้ง

เราอยากรอให้ โอมิครอน เข้ามาระบาดในประเทศไทยให้ช้าที่สุด (การป้องกันไม่ให้เข้ามา คงเป็นไปได้ยาก) เพื่อให้ระบบสาธารณสุข เตรียมรองรับ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุดก่อน ที่จะต้อนรับสายพันธุ์ โอมิครอน

การตัดสินใจในวันนี้ จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ที่จะหาจุดสมดุล ระหว่างการระบาดของโรค กับปากท้องของประชาชน การตัดสินใจจะต้องให้เร็วที่สุด ก่อนที่ โอมิครอน จะเข้ามาระบาดในประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ

ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science”  ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน