หมอธีระชี้ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 276 ล้านคนไปแล้ว โอมิครอนอาละวาดหนัก ยกผลวิจัยต่างประเทศยังไม่รู้เข็มกระตุ้นจะเอาอยู่นานแค่ไหน
22 ธ.ค.2564 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทะลุ 276 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 707,648 คน ตายเพิ่ม 6,686 คน รวมแล้วติดไปรวม 276,518,951 คน เสียชีวิตรวม 5,384,060 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.33 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 95.93 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 58.13 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 57.73 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,476 คน สูงเป็นอันดับ 34 ของโลก หากรวม ATK อีก 264 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 33 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย
...อัพเดต Omicron เมื่อวานนี้เดนมาร์กมีจำนวนติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ สูงถึง 13,057 คน สูงกว่าปลายปีก่อนถึง 3 เท่า
...ส่วนในบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ อาการหนัก และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่ามีทั้งคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และที่ฉีดวัคซีน โดยกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีสัดส่วนถึง 70% เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชน
...หากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไป ต้องใช้เวลาอีกนานไหม กว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลง? นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ และมีบางคนเคยถาม
ล่าสุดมีการศึกษาที่รายงานจาก UK Health Security Agency (UK HSA) ทำการเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นแอสตร้า กับกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นไฟเซอร์ แล้วทำการฉีดเข็มกระตุ้นทั้งสองกลุ่มด้วยวัคซีนไฟเซอร์ (mRNA vaccine) พบว่า เริ่มสังเกตเห็นผลในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาหลังฉีดเข็มกระตุ้นไปได้ตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์ โดยกลุ่มที่เคยได้วัคซีนไฟเซอร์มาก่อนในสองเข็มแรกนั้น จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มที่ได้แอสตร้าฯ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษารายละเอียดพบว่า ภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดอย่างแอนติบอดี้นั้นจะเริ่มเพิ่มตั้งแต่สัปดาห์แรก ส่วนภูมิคุ้มกันระดับเซลล์คือ T-cells นั้นจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่สองเป็นต้นไป
แม้การศึกษานี้จะสังเกตการติดเชื้อในช่วงที่เดลตาระบาด ไม่ได้อยู่ในช่วง Omicron แต่ก็ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับระยะเวลาที่เข็มกระตุ้นเริ่มออกฤทธิ์ช่วยในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามค้างคาว่า เข็มกระตุ้นที่ฉีดไปนั้นจะมีประสิทธิภาพคงอยู่ได้ยาวนานเพียงใด เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบครับ
...สำหรับไทยเรา จำเป็นต้องเตรียมรับมือ Omicron ให้ดี เพราะหลักฐานวิชาการจากทั่วโลกที่กำลังเผชิญการระบาดอยู่นั้น ชี้ให้เห็นว่า หากเกิดการระบาดขึ้นมาในประเทศแล้ว เอาอยู่...ยาก และจะไล่ตามไม่ทัน
ระบบการคัดกรองโรคจำเป็นต้องมีศักยภาพที่ทำได้ปริมาณมากและต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความต้องการยามที่ระบาดปะทุขึ้น ความเสี่ยงตอนนี้สูงมาก และเราเห็นรายงาน Omicron ของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
การที่เราเตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ไว้ล่วงหน้า และหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ ก็จะทำให้สามารถรับมือสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาหมอ ทำฟัน ตัดผม ซื้อ ATK ติดบ้านไว้บ้าง ก็จะเป็นการดี ที่สำคัญมากคือ ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย mRNA vaccines จะไฟเซอร์หรือโมเดิร์นนาก็ได้ ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว และเลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์คริสตมาสและปีใหม่ ฉลองกับคนในครอบครัวที่บ้านจะปลอดภัยกว่าครับ ด้วยรักและห่วงใย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ประกันตนอย่าลืม เช็กสิทธิประกันสังคม “ทำฟัน” ก่อนหมดปี 67
นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (สปส.) กล่าวเตือนผู้ประกันตนอย่าลืมไปใช้สิทธิกรณีทันตกรรม ก่อนหมดสิ้นปี 2567 สำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถทำฟัน โดยการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าตัดฟันคุด
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน